กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--PR Network
การอบสมุนไพร คือการใช้ความร้อนบำบัดอีกวิธีหนึ่ง ซึงถือได้ว่าเป็นการช่วยดูแลสุขภาพและบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆได้ เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการหวัดคัดจมูก ปวดศีรษะ เป็นต้น
การอบสมุนไพรจะทำให้ผิวหนังได้รับความร้อนประมาณหนึ่ง ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เส้นเลือดที่ผิวหนังขยายตัว และเลือดไหลเวียนมาที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการขับเหงื่อซึ่งถือเป็นของเสียของร่างกายออกทางผิวหนัง กล้ามเนื้อคลายตัว ลดอาการปวดเมื่อย อีกทั้ง ตัวยายังสามารถเข้าไปทางผิวหนังได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การอบสมุนไพรยังช่วยให้ทางเดินหายใจสะดวกโล่งขึ้นอีกด้วย
ศูนย์การเรียนรู้การดูแลสุขภาพภาคประชาชน ด้านการแพทย์แผนไทย อภัยภูเบศร ได้มีการแนะนำตำรับยาอบสมุนไพร ที่มีสรรพคุณมากมายไว้ดังนี้
ยาอบ...ช่วยฟื้นไข้ มีสรรพคุณ ช่วยผ่อนคลายอาการเมื่อยล้า และทำให้ร่างกายสดชื่นหลังอาการไข้ ช่วยให้ทางเดินหายใจสะดวก และโล่งขึ้น ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญ คือ
1.ใบคนทีสอ
2.ใบเสนียด
ยาอบหลังคลอด มีสรรพคุณในการช่วยดูแลมารดาหลังคลอด ลดอาการอักเสบปวดบวม คลายปวดเมื่อย และช่วยบำรุงผิวพรรณ โดยมีส่วนประกอบ คือ
1. ส้มป่อย
2. ข่า
3. ว่านชักมดลูก
4.ตะไคร้
5. ใบมะขาม
6. ใบมะดัน
7. ไพล
8. ผิวมะกรูด
ยาอบ...รักษาโรคผิวหนัง มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการของโรคผิวหนัง ผดผื่นคัน มีส่วนประกอบ คือ
1. พญายอ
2. กระดูกไก่ดำ
3. ขมิ้นชัน
4. ใบสะเดา
5. ใบหนาด
6. ใบเปล้า
ยาอบ...บรรเทาปวดเมื่อย ปวดศีรษะ มีสรรพคุณในการช่วยผ่อนคลายอาการเมื่อยล้า และทำให้ร่างกายสดชื่น ทางเดินหายใจสะดวกโล่งขึ้น มีส่วนประกอบ คือ
1. เปราะหอม
2. ผิวมะกรูด
3. ใบหนาด
4.ใบเปล้า
5. ขมิ้นชัน
6. ขมิ้นอ้อย
7. ว่านน้ำ
8. ตะไคร้
9. ใบเตย
10. คนทีสอ
สำหรับวิธีการทำยาอบสมุนไพรในทุกตำรับ ให้นำตัวยาสมุนไพรอย่างละ 1 กำมือ ต้มกับน้ำประมาณ 1 ลิตร จนกระทั่งน้ำเดือด นำหม้อยาที่ต้มได้ ไว้ในบริเวณที่มิดชิด เพื่อทำการอบตัวยาสมุนไพร เช่น การอบในกระโจม ตู้อบ หรือาจใช้ผ้าคลุมให้มิดชิด อบตัวประมาณ 15 นาที แล้วพักประมาณ 15 นาที ทำเช่นนี้ 2 รอบ สัปดาห์ละครั้ง
จะเห็นได้ว่ายาอบทุกสูตรมีวิธีการทำ และวิธีการใช้ที่ไม่ได้มีความยุ่งยากแต่อย่างใด ซึ่งทุกท่านสามารถนำไปทำได้เองที่บ้าน และสำหรับสูตรของยาอบทุกตำรับ สามารถนำมาใช้เป็นยาอาบแทนได้เช่นกัน โดยการนำสมุนไพรในปริมาณที่เท่าๆ กัน มาต้ม เติมน้ำให้ท่วมยา ต้มจนเดือด จากนั้นนำยาที่ได้มาผสมกับน้ำสะอาดประมาณ 10 ขัน ใช้อาบให้ทั่วตัว
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมี ข้อควรห้าม สำหรับผู้ที่จะทำการอบสมุนไพร คือ ผู้ที่กำลังมีอาการไข้ หรือหลังฟื้นไข้ใหม่ๆ ผู้ที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงทุกชนิด เช่น วัณโรค ไวรัสตับอักเสบ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคลมชัก โรคหัวใจ สตรีขณะมีประจำเดือน ผู้ที่มีอาการอักเสบของบาดแผลต่าง ๆ ผู้ที่อ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร ผู้ที่มีอาการปวดศรีษะ วิงเวียนศรีษะ และคลื่นไส้ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่มีอาการหน้ามืดวิงเวียนศรีษะ และไม่ควรอบสมุนไพรหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆโดยควรรับประทานอาหารก่อนอบสมุนไพรอย่างน้อย 1 - 1.5 ชั่วโมง
ผู้ที่สนใจสามารถพบกับเรื่องราวของยาอบและความรู้เรื่องสมุนไพรจากอภัยภูเบศรได้ใน งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 9 "นวดไทย มรดกไทย สู่มรดกโลก" ระหว่างวันที่ 5 - 9 กันยายน 2555 อาคาร 7 - 8 อิมแพ็คเมืองทองธานี สอบถามข้อมูลเรื่องสมุนไพรเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร ฝ่ายเภสัชกรรม มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรโทร. 037-211-289