กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่กระทรวงวัฒนธรรม นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา”ว่า หนังสือเล่มนี้ได้ริเริ่มจัดทำขึ้นจาก ดร.อำนวย วีรวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้นำประสบการณ์ในการศึกษาประวัติศาสตร์หรือร่องรอยความเจริญของพระพุทธศาสนาในแต่ละยุคสมัย รวมถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยในการปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างในด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มาทำการศึกษาและวิเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นหนังสือเล่มนี้ ตลอดจนนำมาเผยแพร่เป็นวิทยาทานแก่สาธารณชน ทั้งนี้ ยังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการนำภาพถ่ายจิตกรรมฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปลงพิมพ์บนปกหน้า ของหนังสือ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้ให้การสนับสนุนการพิมพ์และเผยแพร่หนังสือ โดยพิมพ์หนังสือทั้งหมด จำนวน ๙๒,๐๐๐ เล่ม มอบให้แก่องค์กรทางพระพุทธศาสนา และหอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
ด้าน ดร.อำนวย วีรวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ริเริ่มจัดทำหนังสือ “พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา” กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาตนมีโอกาสไปเยือนถ้ำอชันตา และถ้ำเอลโรลา เมืองออรังคบาด รัฐมหาราษฏระ ทางตะวันตกของประเทศอินเดีย ซึ่งเคยเป็นที่ประกอบศาสนกิจในพระพุทธศาสนาเมื่อสมัย ๒๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล และศตวรรษที่ ๑๐ — ๑๒ ตามลำดับ ได้เห็นร่อยรอยความเจริญของพระพุทธศาสนาในยุคสมัยนั้นๆ ตลอดจนความทุ่มเทอย่างใหญ่หลวงของผู้สร้าง จึงสงสัยว่าเพราะเหตุใดพระพุทธศาสนาซึ่งถือกำเนิดเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศอินเดีย และเผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย และที่สุดพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ นิกายเถรวาทมารุ่งเรืองที่สุดในประเทศไทย โดยประชากรกว่าร้อยละ ๙๐ เป็นพุทธศาสนิกชน มีวัดกว่า ๔๐,๐๐๐ แห่ง และพระภิกษุสงฆ์กว่า ๒๐๐,๐๐๐ รูป นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าความเจริญของพระพุทธศาสนาเกิดจากแรงบันดาลใจและศรัทธาอันแรงกล้าของพระมหากษัตริย์ ที่ปฏิบัติพระองค์ด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาเป็น ระยะเวลากว่า ๗๐๐ ปี นับตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในปัจจุบัน
ดร.อำนวย กล่าวอีกว่า ก่อนการจัดทำหนังสือเล่มนี้ ตนได้มีโอกาสพบ พลตรี ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี นักประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดท่านหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งท่านได้ให้ข้อคิดในการทำงานค้นคว้าวิจัยที่สามารถตอบคำถามได้อย่างเป็นรูปธรรมและถ่องแท้ได้ และตนได้ถ่ายทอดแนวทางดังกล่าวให้กับผู้ที่มาศึกษาวิเคราะห์จนเกิดเป็นหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ช่วยพิจารณาให้คำแนะนำ และปรับปรุงแก้ไขก่อนดำเนินการพิมพ์เผยแพร่ อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ยังสะท้อนถึงความเคารพรักและศรัทธาของประชาชนต่อสองสถาบันหลักของประเทศนี้ ที่หล่อหลอมเป็นเอกภาพและก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดความเจริญของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่แต่วัตถุ หรือการสร้างวัดวาอารามและพุทธวัตถุต่างๆเท่านั้น แ ต่ที่สำคัญคือ ลักษณะจิตใจ ทัศนคติ และวิถีชีวิตของคนไทยด้วย