กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นักสู้บ่อนอก-หินกรูด “จินตนา แก้วขาว” หนุนกรีนพีซเสนอกฎหมายพลังงานหมุนเวียน หยุดวิกฤตโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระบุพลังงานเวียนไทยไม่ก้าวหน้าเพราะคอรัปชั่น เหตุเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนนำเข้าแค่ครั้งเดียว กินหัวคิวได้น้อย
นางจินตนา แก้วขาว แกนนำของกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ่อนอก-หินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวในระหว่างการ ร่วมงาน “มหกรรมปฏิวัติพลังงานผ่านพลังงานหมุนเวียน” และร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายพลังงานหมุนเวียนด้วย โดยระบุว่า ขอสนับสนุนกฎหมายพลังงานหมุนเวียนที่กรีนพีซเสนอ เพราะการลงทุนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเรื่องที่คุ้มค่า เพราะมีการนำเข้าแค่ครั้งเดียว โดยกฎหมายพลังงานหมุนเวียนที่อยากเห็น คือ รัฐต้องสนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยีความรู้ และช่วยสมทบทุนให้กับชุมชนที่สามารถพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของพลังงานร่วมกันซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งในพื้นที่ และจะช่วยลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากพลังงานสกปรก เช่นถ่านหิน ด้วย ทั้งนี้ตนเองต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะมาตั้งในจ.ประจวบคีรีขันธ์มานานกว่า 16 ปี เพราะเห็นตัวอย่างจากกรณี เหมืองแร่แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่มีประชาชนเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนประจวบฯไม่อยากมีชะตากรรมแบบนั้น ทำให้เราต้องลุกขึ้นมาคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหาดทรายกว่า 200 กิโลเมตรทันทีจากการขนถ่ายถ่านหิน
“สิ่งที่ทำให้พวกเราลุกขึ้นสู้คือการคิดว่าบ้านเราจะถูกไฟไหม้และจะไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่มีไฟฟ้าเราอยู่กันได้ แต่ถ้าไม่มีอาหาร ไม่มีอากาศ เราจะอยู่อย่างไร ตรงนี้มากกว่าที่ทำให้เราลุกขึ้นสู้ รัฐโฆษณาชวนเชื่อว่าถ่านหินสะอาด แต่คนประจวบฯไม่เชื่อแบบนั้น และอยากจะท้าให้รัฐพูดความจริง ว่าจริงๆแล้วมันจำเป็นต้องมีการโรงไฟฟ้าหรือไม่ ควรมีการพูดเรื่องการบริหารจัดการให้มีการประหยัดพลังงานมากกว่าและรัฐบาลต้องโปร่งใสเรื่องโครงสร้างเชิงนโยบายของแผนพลังงานของประเทศด้วย เพราะรัฐบาลปกปิดความจริงต่อประชาขนอยู่ ” นางจินตนา กล่าว
แกนนำ ทรัพยากรธรรมชาติบ่อนอก-หินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ วิเคราะห์ว่า เหตุที่พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยไม่มีความก้าวหน้า เพราะรัฐไม่ได้ใส่ใจอย่างจริงจัง เช่น สมมุติว่าประชาชนอยากใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่อาจจะต้องลงทุนถึง 5 แสนบาท รัฐควรช่วยสมทบประชาชนโดยให้มีการกู้ยืมเงินลงทุนแล้วผ่อนชำระ และหากไฟฟ้าเหลือใช้ก็ควรขายคืนรัฐได้ แต่รัฐไม่เคยทำทั้งที่แผนพัฒนาการใช้พลังงานบังคับรัฐให้รัฐต้องทำ เหตุที่รัฐไม่ทำเพราะมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะลักษณะพลังงานเหล่านี้มีการนำเข้าเครื่องมือแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ไม่มีโอกาสที่คอรัปชั่นได้ผิดกับการนำเข้าถ่านหินซึ่งสามารถกินหัวคิวได้หลายครั้งโดยกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าและรัฐแทบจะเป็นกลุ่มเดียวกัน หากประชาชนสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนเองได้ พวกเขาก็จะเสียประโยชน์ตรงนี้ทันที นี่เป็นเรื่องจริงที่เราต้องรู้ อีกทั้งการนำเข้าถ่านหิน ที่แต่ละครั้งฆ่าชีวิตคนเป็นจำนวนมากที่ต้องป่วยเป็นโรคต่างๆ แต่ไม่มีการคำนวนเรื่องต้นทุนชีวิตตรงนี้เลย
นางจินตนา กล่วว่า เรื่องที่ระบุว่า โรงไฟฟ้าทำให้มีการจ้างงานในพื้นที่นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะจะมีงานแค่ช่วงการก่อสร้างเท่านั้น หลังจากนั้นจะใช้วิศวกรมากกว่า ทั้งนี้ขอย้ำว่าการก่อตั้งโรงงานไฟฟ้าหมุนเวียนควรเป็นการจัดการร่วมกันของประชาชนในพื้นที่เพราะนักธุรกิจมุ่งแต่แสวงหากำไรทุกวิถีทาง โดยไม่มีการลงทุนเรื่องพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แต่หันมาทำโรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.9 เมกะวัตต์ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ระบุว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 10 เมกะวัตต์ ต้องผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพราะโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเองสร้างปัญหามลภาวะเช่นกัน ดังนั้นการทำแบบนี้ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใดเป็นเพียงการเลี่ยงที่จะไม่ใช้ถ่านหินเท่านั้น แต่มลพิษยังเยอะเหมือนเดิม ดังนั้น ประชาชนไม่ได้ประโยชน์
“ส่วนที่ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า คนกรุงเทพฯ ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้า 40% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด กลับเป็นกลุ่มที่น้อยที่สุดกับการเห็นต้องจ่ายเพิ่มเพื่อพลังงานสะอาดนั้น เพราะเราไม่เคยรณรงค์ให้คนกรุงเทพรู้จักความเสียหายของคนอื่นว่าจะเป็นจะตายอย่างไร ดังนั้น เมื่อคนกรุงเทพฯ รู้สึกว่าสบายเกินไปแตะต้องไม่ได้ เหมือนไข่ในหิน ในฐานะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างโรงไฟฟ้าจึงอยากจะบอกว่าลองให้ตั้งโรงไฟฟ้าใน กทม.ดูบ้าง เพราะ ห้างสรรพสินค้าแห่งเดียวใช้ไฟเท่ากับ 3 จังหวัดรวมกัน ขอย้ำว่าการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่หนักหนาสาหัสมาก จนตนเองต้องติดคุก ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ็บปวด แต่ก็คุ้มที่สามารถหยุดยั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้” นางจินตนา กล่าว
กรีนพีซจะจัดสัมมนาปิดท้ายมหกรรมพลังงานหมุนเวียน ในวันเสาร์ที่ 18 ส.ค. นี้ ที่ โดมกู้วิกฤตโลพร้อน ลานราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก ตั้งแต่เวลา 15.00 — 20.00 น. โดยในเวลา 16.00-17.45 น. จะมีการเสวนา “จิบชา ปฏิวัติพลังงาน ผ่าน กม.พลังงานหมุนเวียน โดยมีวิทยากร คือ นางสาว รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา นายสัมฤทธิ์ เหมะ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทน ศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาว สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นาย ศุภกิจ นันทวรการ นักวิจัยพลังงาน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ นอกจากนี้ยังมีฟรีคอนเสิร์ตปฏิวัติพลังงาน นำโดย สิงโต นำโชค เจ้าพ่ออูคูเลเล- เพลงเซิร์ฟชื่อดัง ที่ร่วมแต่งเพลง “หากมีเธอก็คงดี” ซึ่งเป็นเพลง รณรงค์ โครงการปฏิวัติพลังงานให้กรีนพีซ พร้อมกับคู่หูมหัศจรรย์ Double Trapp Beatbox และ วง Diamond วงดนตรีคนตาบอดชื่อดังของเมืองไทย และ วง Cha-Ju ปิดท้ายด้วย ร่ายกวีเพื่อพลังงานหมุนเวียน โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (ศิลปินแห่งชาติ/กวีซีไรต์) โดยประชาชนสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเรื่องการปฏิวัติพลังงานพร้อมทั้งลงชื่อสนับสนุกกฎหมายพลังงานหมุนเวียนฉบับแรกของไทยที่ http://www.greenpeace.or.th/GoRenewable