กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งสะท้อนถึงสถานะผู้นำตลาดในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงความสามารถของแพทย์และผู้บริหารโรงพยาบาล ตลอดจนคุณภาพบริการที่อยู่ในระดับสูง ในการให้อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงความสามารถของโรงพยาบาลในการสรรหาบุคลากรทางการแพทย์และสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดการให้บริการด้านสุขภาพทั้งในและต่างประเทศ และความกังวลเกี่ยวกับการขยายสู่ตลาดต่างประเทศอย่างรวดเร็วของบริษัท
ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” นั้นสะท้อนถึงความคาดหมายที่บริษัทจะสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศได้ โดยชื่อเสียงที่ดีและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถสรรหาบุคลากรทางการแพทย์ และดึงดูดจำนวนคนไข้ให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังอยู่บนสมมุติฐานที่บริษัทจะมีเงินทุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสำหรับใช้ลงทุนในกิจการในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยบริษัทจะต้องรักษาอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมให้อยู่ที่ระดับประมาณ 50% ในขณะเดียวกันก็จะต้องสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ที่ระดับประมาณ 40%-50% ด้วย
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีอัตราการเติบโตของรายได้ที่แข็งแกร่งจากการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมที่ระดับ 18.3% อัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมของคนไข้นอกและคนไข้ในในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของโรงพยาบาลอยู่ที่ระดับ 12.9% และ 13.8% ตามลำดับ โดยจำนวนคนไข้ชาวต่างประเทศมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนคนไข้ทั้งหมด ซึ่งสร้างรายได้ประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด รายได้จากการดำเนินงานต่อยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 10.6% ในปี 2541 เป็น 20.5% และ 22.1% ในปี 2546 และปี 2547 ตามลำดับ อัตราส่วนเงินกู้ยืมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจาก 78.08% ในปี 2545 เป็น 64.28% ในปี 2546 และ 45.3% ในปี 2547 คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะไม่ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีแผนในการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ รวมทั้งมีการลงทุนในการสร้างอาคารแห่งใหม่และซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งจะทำให้เงินกู้ยืมของบริษัทยังคงตัวอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม เงินกู้ที่อยู่ในระดับสูงมิได้สร้างความกังวลมากนักเนื่องจากโรงพยาบาลมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ในระดับสูงถึง 60.3% ในปี 2547 และคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับประมาณ 50% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนต่างมีการขยายกิจการมากขึ้น ในขณะที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มีการเปิดคลีนิคพิเศษ ทำให้มีการแข่งขันเพื่อดึงลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้ากลุ่มเดียวกันเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าธุรกิจการให้บริการด้านสุขภาพจะมีความผันผวนน้อยกว่าธุรกิจอื่นๆ แต่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งรวมทั้งบริษัทเองต่างก็ประสบกับความยากลำบากในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในระหว่างปี 2540-2541 เนื่องจากต้นทุนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นและระดับเงินกู้ที่สูงเพื่อใช้ในการลงทุน ในช่วงวิกฤติดังกล่าว อัตราส่วนกำไรของโรงพยาบาลเอกชนลดลงอย่างมากเนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในขณะที่จำนวนคนไข้ลดลงจากการเปลี่ยนไปใช้บริการในสถานพยาบาลที่ราคาถูกกว่า เช่น โรงพยาบาลรัฐ และคลีนิค ทั้งนี้ เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า--จบ--