กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในเดือนกรกฎาคม 2555 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 126,721 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,660 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554 — กรกฎาคม 2555) สูงกว่าเป้าหมาย 12,280 ล้านบาท ดังนี้
1. เดือนกรกฎาคม 2555 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 126,721 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,660 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 สาเหตุสำคัญมาจากการนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราที่สูง ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,260 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการถึง 3,853 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.8 สอดคล้องกับอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ สูงกว่าประมาณการ 1,208 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.9 นอกจากนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ฟื้นตัวหลังจากอุทกภัยและโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,956 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.9 สำหรับรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 2,835 ล้านบาท หรือร้อยละ 49.0 สาเหตุหลักมาจากโรงงานยาสูบนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 2,932 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี การขยายเวลาลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาท ทำให้ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,910 ล้านบาท
2. ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554— กรกฎาคม 2555)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,558,452 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 12,280 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.7) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้า และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 16,802 12,256และ 9,810 ล้านบาท ตามลำดับ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,238,611 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 8,843 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.7) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 16,802 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าซึ่งสูงกว่าประมาณการร้อยละ 7.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.6) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 9,810 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5 สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 19,401 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 เป็นผลจากอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ทำให้การชำระภาษีจากกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชี 2554 (ภ.ง.ด.50) ที่ผ่านมาต่ำกว่าประมาณการ
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 308,866 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 21,189 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.3) ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 28,627 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.1 เนื่องจากการขยายเวลาการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาท ส่วนภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 585 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 เป็นผลจากอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงต้นปีงบประมาณส่วนภาษีเบียร์ ยาสูบและสุราจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,959 2,849 และ 1,546 ล้านบาท ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์หลังจากอุทกภัยและโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้ภาษีรถยนต์เริ่มจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 เป็นต้นมา ดังนั้นในปีงบประมาณ 2555 คาดว่าการจัดเก็บภาษีรถยนต์จะสูงกว่าประมาณการเล็กน้อย
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 99,286 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 12,136 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.0) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 12,256 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.4 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าในหมวดรถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทโดยเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554 — มิถุนายน 2555) สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 10.7 และ 13.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงเป็น 3 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องจักรกล และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 94,473 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 4,001 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.9) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานยาสูบ บมจ.ปตท. และบมจ.กสท โทรคมนาคม สำหรับรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ บมจ.ทีโอที และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในขณะที่บมจ.การบินไทย และกองทุนวายุภักษ์งดจ่ายเงินปันผล
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 89,656 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2,957 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.8) เนื่องจากกรมศุลกากรได้ส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับผู้ส่งออกสินค้าเหลือจ่ายจำนวน 4,655 ล้านบาท และกรมสรรพสามิต ได้นำส่งเงินค่าใช้จ่ายเก็บภาษีท้องถิ่นคืนเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมต่ำกว่าประมาณการ 750 ล้านบาท สาเหตุมาจากปริมาณปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการขายปิโตรเลียมในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554 — มิถุนายน 2555) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.8 นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้เลื่อนการนำส่งค่าใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคม (จากที่ประมาณการว่าจะนำส่งในเดือนมกราคม 2555 จำนวน 2,000 ล้านบาท)
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 206,289 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 7,813 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 166,499 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,501 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.1 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 39,790 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,312
ล้านบาท หรือร้อยละ 9.8
2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ให้แก่ อปท. ในปีงบประมาณ 2555 ได้มีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ อปท. แล้ว 6 งวด เป็นจำนวน 42,351 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,211 ล้านบาทหรือร้อยละ 5.5
3. คาดการณ์รายได้รัฐบาลสุทธิตลอดปีงบประมาณ 2555
นายสมชัยฯ สรุปว่า “การดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนขยายตัว รวมทั้งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ภายหลังอุทกภัย ทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ผ่านมาในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 บรรลุตามเป้าหมาย กระทรวงการคลังจึงเชื่อมั่นว่าผลการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2555 นี้ จะใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.98 ล้านล้านบาท”
สำนักนโยบายการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3562