กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--ปภ.
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค ได้จัดให้มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็น เรื่อง "การติดตามความก้าวหน้าความเห็นและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการจัดการอันตรายจากแร่ใยหินไครโซไทล์ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค" เนื่องจากวัสดุก่อสร้างบางชนิดที่ประกอบมาจากวัสดุที่เป็นใยหิน ซึ่งเมื่อใช้ไประยะเวลาหนึ่ง จะเกิดการเสื่อมสภาพและทำให้เส้นใยหินที่ผสมอยู่ในวัสดุประเภทต่างๆ ลอยกระจายฟุ้งไปในอากาศ ซึ่งใครก็ตามที่สูดดมเข้าไปก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งได้ ขณะนี้ข้อมูลอันตรายจากแร่ใยหินมีความชัดเจน ในเรื่องของโรคมะเร็งปอดและปอดอักเสบ รวมถึงการยกเลิกการใช้ในประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศทั่วโลก แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ยังไม่ได้แสดงบทบาทอย่างชัดเจนในการจัดการเรื่องดังกล่าวเลย สภาที่ปรึกษาฯ จึงจัดสัมมนาเรื่องดังกล่าวขึ้น ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็น นางสาวทรงศิริ จุมพล นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึง การสร้างมาตรการที่จะทำให้ผู้บริโภครับรู้ประกาศ และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน ว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคควรประชาสัมพันธ์กับช่างก่อสร้าง หรือผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ คำเตือน ให้ตระหนักในความสำคัญ และอันตรายจากแร่ใยหิน เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง
นายเดชา เมฆวิลัย ที่ปรึกษาด้านการบริหารงานพัสดุและทางวิชาการนิติการ กรมบัญชีกลาง กล่าวถึงการกำหนดการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างและการจัดจ้างของรัฐเกี่ยวกับสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน ว่า มติ ครม. กำหนดให้สินค้าและบริการที่ทางราชการจะต้องจัดซื้อจัดจ้างหรือรับบริการทุกประเภท/รายการ ต้องผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้รับฉลากเขียว หรือได้รับใบไม้เขียว แต่เป็นการกำหนดเป้าหมายระดับหนึ่งเพื่อให้มีการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเกณฑ์ข้อกำหนดฯ ดังกล่าวจะไม่เป็นการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติกับผู้เสนอขายสินค้าและบริการ โดยสินค้าและบริการที่เข้าเกณฑ์ข้อกำหนดจะต้องมีผู้ผลิต/จำหน่ายในประเทศไทยไม่น้อยกว่า ๓ ราย จึงจะถือว่าสมบูรณ์ ซึ่งในระเบียบไม่มีข้อจำกัดว่าอะไรซื้อได้ซื้อไม่ได้ จึงควรขอความร่วมมือจากภาครัฐให้ออกมาตรการควบคุมการซื้อสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน เพราะการออกมาตรการควบคุมเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ และการจัดซื้อจัดจ้างเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ
ผศ.พญ.ดร.พิชญา พรรคทองสุข คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า อันตรายของแร่ใยหินก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดและปอดอักเสบ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายมาก ในเมื่อการจัดซื้อจัดจ้างไม่สามารถทำได้ จึงอยากให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามการใช้แร่ใยหินไปเลย
ในส่วนของประเด็น การพัฒนาการผลิตสินค้าไร้แร่ใยหินของภาคเอกชน ผู้ผลิตกระเบื้อง ผู้ผลิตเบรก คลัชได้กล่าวในที่ประชุมว่า ควรเลิกการผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายให้เลิกใช้ดีกว่า เพราะส่งผลดีทั้งทางด้านสุขภาพ และทางด้านธุรกิจด้วย เนื่องจากประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศทั่วโลกก็ได้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้ว เราก็จะสามารถส่งออกสินค้าของเราเข้าไปยังประเทศเหล่านั้นได้ด้วย ในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน ควรให้ข้อมูลผู้บริโภค ถึงคุณสมบัติที่ดีของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แร่ใยหินผ่านการสื่อสารที่หลากหลายช่องทาง และประทับตรา “ปลอดภัย ไม่มีใยหิน” บนผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคทราบ
ในเวทีสัมมนามีข้อเสนอเพื่อให้มาตรการบรรลุผล ดังนี้
- ในส่วนการรื้อถอน และทำลาย ภาครัฐควรออกกฎหมาย และข้อปฏิบัติ ที่ชัดเจน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ
- ควรทำการศึกษาวิจัยอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง รวมถึงแนวปฏิบัติเพื่อดูแลการฟุ้งกระจายของแร่ใยหินด้วย
- ภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์แนวปฏิบัติ โดยการจัดอบรมให้ความรู้ ให้คำปรึกษา และการให้คำแนะนำผู้ที่เข้าไปรื้อถอนและทำลายสิ่งปลูกสร้างที่มีแร่ใยหิน
- มีการดูแลด้านสุขภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน โดยเฉพาะคนงานที่เข้าไปรื้อถอน และทำลายให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วม และสร้างเครือข่ายในการให้ความรู้แก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบ
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการอย่างจริงจังและจริงใจ โดยมองด้านสุขภาพเป็นสำคัญ
- หน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ต้องประชาสัมพันธ์ให้ความรู้อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาฯ จะนำข้อเสนอที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ไปรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป