กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
ชมรมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทยประกาศจัดงาน “วันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งโลก”World CML Awareness Day 2012 อย่างเป็นทางการในประเทศไทย
ชมรมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโลหิตวิทยาภายใต้ Thai CML Working Group และกลุ่มตัวแทนผู้ป่วย ภายใต้ Thai CML Patient Group จัดกิจกรรมโครงการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวCMLอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้อุบัติการณ์ของโรคให้มีการเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง โดยคาดหวังว่า การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดจะนำไปสู่การรวมตัวกันของกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว CML ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวทางการรักษาและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างยั่งยืน โดยชมรมฯ พร้อมจัดงานวันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งโลก (World CML Awareness Day 2012) อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ในวันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2555 เวลา 10.00 -11.30 น. ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น5 อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิตติ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ศ.พญ.แสงสุรีย์ จูฑา ประธานชมรมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย (Thai CML Working Group) เปิดเผยว่า ในปี 2555 นี้ ทางชมรมฯ ได้ร่วมมือกับกลุ่มตัวแทนผู้ป่วยภายใต้ Thai CML Patient Group จะจัดงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว CML และประชาสัมพันธ์ “วันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งโลก” หรือ World Awareness Day 2012 อย่างเป็นทางการในประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ป่วย CML ทั่วโลก ที่กำหนดให้วันที่ 22 กันยายนของทุกปี เป็นวันแห่งการรณรงค์โรค CML โดยทางชมรมฯ จะจัดงานขึ้น ในวันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2555 เวลา 10.00-11.30 น. ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น5 อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิตติ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
สำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์นี้ (Chronic Myeloid Leukemia หรือ CML) เกิดจากความผิดปกติในการสลับที่ของโครโมโซมคู่ที่ 22 และคู่ที่ 9 ในอดีตไม่สามารถรักษาได้ โดยในแต่ละปี จะมีคนไข้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายในระยะเวลา 3-5 ปี แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้มีการพัฒนายาชนิดใหม่ ๆ ที่ช่วยยืดอายุของคนไข้ให้ยืนยาวขึ้น และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตเช่นเดียวกับคนปกติได้ อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคนี้เดิมยังอยู่ในวงแคบเพราะอุบัติการณ์การเกิดโรคนี้มีไม่สูงนัก ทำให้เกิดความพยายามของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะมารวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโลหิตวิทยา หรือ Thai CML Working Group และกลุ่มตัวแทนผู้ป่วย หรือ Thai CML Patient Group ขึ้นมาในปัจจุบัน โดยมีการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิดตลอดมา
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ หรือ CML ทางการแพทย์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด และไม่ได้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทั้งนี้จากสถิติผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง หรือ CML ในปัจจุบันอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้ทั่วโลกมีประมาณ 1-2 รายต่อประชากร 1 แสนคน โดยโรคนี้จะมีการสร้างเม็ดเลือดขาวที่สูงผิดปกติ ซึ่งเราสามารถทราบได้จากการตรวจสุขภาพทั่วไป สำหรับอาการที่พบได้แก่ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง น้ำหนักลด คลำเจอก้อนที่ชายโครงซ้าย หรือผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ
ด้านนายภาณุวัฒน์ รัตนะ ประธานชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย (Thai CML Patient Group) กล่าวว่า การทำงานของชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทยที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง มีการเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและแนวทางการรักษา ซึ่งวิทยาการความก้าวหน้าทางการรักษาโรคนี้ ปัจจุบันมีความก้าวหน้ากว่าสมัยก่อนมาก โดยผู้ป่วยสามารถรับการรักษาได้ด้วยการรับประทานยา และเพื่อเป็นการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้กับผู้ป่วยและผู้สนใจทั่วไป ทางชมรมฯ จึงได้จัดกิจกรรมการประกวดออกแบบโลโก้ “World CML Awareness Day” โดยผู้สนใจสามารถส่งโลโก้เข้าประกวดทางอีเมล์ได้ตั้งแต่บัดนี้ที่อีเมล์ kannika.bmt@gmail.com ภายในวันที่ 11 กันยายน 2555 นี้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณจีระพล โทร.081-235-4678 โดยจะทำการตัดสินในวันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2555 ภายในงาน “ World CML Awareness Day”
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่ม กรุณาติดต่อ
คุณปาริชาติ สุวรรณ์ ( ปุ้ม) ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8203
หรือ อีเมล์ paricharts@corepeak.com