กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบตรวจวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ยา ได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายแห่งชาติด้านยา โดยเชิญภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ บุคลากรของโรงพยาบาลรัฐทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักบริหารการสาธารณสุข ร่วมกันกำหนดทิศทางการประกันคุณภาพยาให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลคุณภาพยา ลดค่าใช้จ่ายด้านยาอย่างมีคุณภาพ และที่สำคัญคือสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ายาสามัญที่ผลิตในประเทศมีคุณภาพ
“การดำเนินการประกันคุณภาพยาภายใต้ชื่อ “โครงการสร้างหลักประกันคุณภาพและมาตรฐานบริการด้านยา” ได้มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์คุณภาพยาสามัญ พร้อมจัดพิมพ์หนังสือ Green Book จำนวน 8 เล่ม เผยแพร่รายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิต ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ให้กับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่เภสัชกรของโรงพยาบาลผู้มีหน้าที่จัดซื้อยา และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่มาใช้บริการในโครงการหลักประสุขภาพถ้วนหน้าว่าได้รับยาสามัญที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้ผลิตยาที่จำหน่ายในประเทศมีการพัฒนาคุณภาพยาอย่างต่อเนื่อง”
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับก้าวต่อไปในการดำเนินงานตามโครงการประกันคุณภาพยาสามัญนั้นจะดำเนินการตามนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ.2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2554 — 2559 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ได้มาตรฐาน โดยการประกันคุณภาพความปลอดภัยและประสิทธิผลของยา การสร้างเสริมระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล การส่งเสริมการเข้าถึงยาจำเป็นให้เป็นไปอย่าเสมอภาค ยั่งยืน ทันเหตุการณ์ รวมทั้งการสร้างกลไกการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพและอุตสาหกรรมยาภายในประเทศมีการพัฒนาสามารถพึ่งตนเองได้
ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการการตรวจวิเคราะห์ยาสามัญจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยจะทำการตรวจวิเคราะห์ตามหัวข้อที่กำหนดไว้ในตำรายาสากล เช่น ปริมาณตัวยาสำคัญ การละลายของตัวยา ปริมาณความชื้น ความสม่ำเสมอของปริมาณตัวยาในแต่ละเม็ด รวมทั้งสารสลายตัว(ถ้ามี) เป็นต้น หากผ่านเกณฑ์ทั้ง 3 รุ่นผลิต ในแต่ละตำรับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะนำรายชื่อผลิตภัณฑ์ยานั้นมาเผยแพร่ในหนังสือ GREEN BOOK โดยระบุรายละเอียด คือ ชื่อสามัญทางยา (generic name) ขนาดความแรง ชื่อผู้ผลิต เลขทะเบียนยา ชื่อการค้า(trade name) เพื่อให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้นำหนังสือข้อมูลในGREEN BOOK ไปใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกและกำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ยาที่จัดซื้อเข้าโรงพยาบาล
นอกจากนี้ การเผยแพร่ผลวิเคราะห์ดังกล่าวสามารถกระตุ้นให้ผู้ผลิตมีการพัฒนาคุณภาพยาให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลมากขึ้นโดยมีการปรับปรุงทะเบียนตำรับยาในส่วนของการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยตามมาตรฐานสากล ดังนั้นประชาชนที่เข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล มั่นใจได้ว่า ยาสามัญที่ใช้ในการรักษามีการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานสากล