กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า กว่า30 ปีที่ศศินทร์เปิดให้บริการสังคมและธุรกิจต่าง ๆ ได้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ประสบความสำเร็จและสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ทั้งนี้ ศิษย์เก่าที่จบการศึกษาออกไปนั้นไม่ใช่เฉพาะสาขาการตลาดและนักบริหารธุรกิจเท่านั้น ที่ผ่านมามีทั้งผู้บริหารจากสาขาต่าง ๆ ได้มุ่งเข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ไปใช้ในการทำงาน เช่น แพทย์ เภสัชกร ผู้ประกาศข่าว วิศวกร โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ ซึ่งบุคคลจากหลากหลายอาชีพนี้ล้วนแต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือการสร้างโอกาสให้กับตนเองโดยไม่ต้องเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
เช่นเดียวกับ ผู้บริหารจากบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ( มหาชน) ที่มีแนวคิดว่าแม้จะทำหน้าที่และมีความรับผิดชอบเรื่องระบบการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม แต่ในฐานะผู้บริหารก็ควรต้องมีความรู้ในเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการบริหารธุรกิจ เช่น เรื่องไฟแนนซ์ บัญชี การตลาด เนื่องจากมีความสำคัญต่อการทำงานในทุกอาชีพ จึงเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมที่สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ เพราะเป็นสถาบันมีชื่อเสียงในเรื่องที่เราต้องการจะรู้ และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ที่สำคัญยังทำให้มีโอกาสได้รู้จักเพื่อนร่วมชั้นเรียนจากหลากหลายอาชีพ ทำให้เกิดคอนเนคชั่นที่ดี และเชื่อว่าการศึกษาต่อที่ศศินทร์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการทำงานได้เป็นอย่างดี
นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายก่อสร้าง บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ( มหาชน) เปิดเผยถึงการดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมว่า สำหรับในประเทศไทยได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพื่อให้บริการภาคธุรกิจต่าง ๆ อยู่ 2 แห่งคือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง แต่ละแห่งมีพื้นที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ นอกจากนี้บริษัทยังมีเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจดังกล่าวในต่างประเทศ โดยได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาความเป็นไปได้ในประเทศต่าง ๆ เช่น การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดดองไน ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ได้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ใหม่ทั้งหมด เนื่องจากเวียดนามไว้วางใจและเห็นผลงานด้านการบริหารจัดการของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ที่เป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนและเป็นหนึ่งในห้าของธุรกิจดังกล่าวในภูมิภาคเอเชีย
ล่าสุดนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ได้เข้าไปพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่เมืองทวาย ประเทศพม่า ซึ่งมีพื้นที่ในการบริหารจัดการถึง 2 แสนไร่ คาดว่าภายในเวลา 5 ปีจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจากับประเทศต่าง ๆ เพื่อดำเนินโครงการร่วมกัน เช่น ญี่ปุ่นที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี รวมทั้งประเทศจีนที่ให้ความสนใจด้านการลงทุน
“หากการก่อสร้างที่เมืองทวายแล้วเสร็จจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในอนาคตเราจะทำให้เป็น Perfect city ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และทวาย โดยเฉพาะที่ทวายซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากพม่ามีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยและมีทรัพยากรที่ยังอุดมสมบูรณ์ สำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ทวายเป็นโครงการใหญ่อันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากจะมีอุตสาหกรรมหนักที่มีการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง และบริษัทต่าง ๆ ต้องการมาตั้งฐานการผลิตที่ทวาย เพราะจะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินเรือขนส่งสินค้าในแถบเอเชีย ที่ทำให้ย่นระยะทางการเดินเรือและสะดวกในการขนถ่ายสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก” นายวิวัฒน์ กล่าวและให้ความเห็นว่า การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะหากเน้นเรื่องการทำธุรกิจนี้ให้ดีที่สุดจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เนื่องจากอุตสาหกรรมที่เข้ามาอยู่ในนิคมจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบตามที่กำหนดไว้
ที่ผ่านมานิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ได้เข้มงวดกับเรื่องกฎระเบียบเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ได้รับมาตรฐาน ISO 14000 ที่นำไปใช้กับนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นทั้งเมืองทำงาน และที่อยู่อาศัย มีสาธารณูปโภคพร้อมเพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสียง มลภาวะทางอากาศ การบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งการจัดการกับขยะที่เป็นพิษฯลฯ เนื่องจากมีการตรวจสอบวัดมาตรฐานทุกโรงงาน
นายวิวัฒน์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ทวายมีส่วนสำคัญในการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ สร้างฐานการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ระดับโลกให้กับภูมิภาคเอเชีย โดยในระยะแรกได้ให้ความสำคัญกับการสร้างงาน เนื่องจากการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ทวายนั้นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมเรื่องแรงงานไว้แล้ว โดยนำแรงงานพม่ามาฝึกในนิคมฯที่มีอยู่ เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญ สำหรับแรงงานไทยนั้นยังคงเป็นที่ต้องการสูง เนื่องจากมีศักยภาพในด้านความรู้และความเชี่ยวชาญ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของแรงงานไทย