กลุ่มแม่บ้านพลิกวิกฤตภัยแล้งสร้างรายได้

ข่าวทั่วไป Tuesday August 21, 2012 09:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม เกษตรกรในพื้นที่อำเภอกันทรวิชัย พลิกวิกฤตภัยแล้งให้เป็นโอกาส รวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตขนมไทยออกขาย สามารถสร้างรายได้อย่างงดงาม ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม ผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ว่างงาน ขาดรายได้ แต่เกษตรกรบ้านดอนดู่ ตำบลคันธาราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ได้พลิกวิกฤตภัยแล้งให้เป็นโอกาส ด้วยการรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กว่า 20 คน ผลิตขนมไทยที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทย ใช้ส่วนประกอบหลัก 3 อย่าง คือ แป้งข้าว น้ำตาลและมะพร้าว นำมาดัดแปลง ทำขนมได้หลายรูปแบบ เช่น ทอด นึ่ง ปิ้งและกวน ได้อย่างลงตัว โดยแต่ละวันกลุ่มจะรวมตัวกันที่บริเวณที่ทำการกองทุนหมู่บ้าน แยกหน้าที่กันทำชนิดขนมไทยตามที่ตนเองถนัด โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่เกษตรสำนักงานเกษตรอำเภอกันทรวิชัย และสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม คอยแนะนำและถ่ายทอดความรู้ในระยะแรก ผลิตภัณฑ์ขนมไทยหลัก ๆจะมี ปั้นสิบ สาคู ขนมชั้น และอื่นๆ สร้างได้ให้กับสมาชิก เดือนละ 2,000-3,000บาท แต่ผลิตภัณฑ์ขนมที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มหลักๆ คือปั้นสิบที่ส่งขายเป็นอาหารว่างให้กับมหาวิทยาลัยและส่วนราชการที่มีการจัดประชุมสัมนา กลุ่มมีเคล็ดลับความอร่อยและน่ารับประทาน นอกจากการทอดให้เหลืองสวย ปรุงรสให้กลมกล่อมแล้ว ตัวแป้งขนมได้ใส่น้ำมันพืชเพื่อให้แป้งนิ่ม และใส่น้ำปูนใสเพื่อเพิ่มความกรอบ และสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน ทั้งนี้ปั้นสิบ เป็นขนมไทยโบราณชนิดหนึ่ง มีวิธีการทำโดยใช้แป้งห่อไส้แล้วม้วนบิดริมแป้งตรงส่วนที่ประกบกันให้เป็นลายเกลียว จากนั้นนำไปทอด มีลักษณะคล้ายกระหรี่ปั๊ป แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก คือมีขนาดพอดีคำ ปั้นสิบนี้บางครั้งอาจเรียกเป็น ปั้นขลิบ หรือหากเป็นชื่อที่คนโบราณเรียกก็จะเป็น แป้งสิบ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีที่มาจากการใช้นิ้วปั้นหรือขลิบตรงริมขนมให้ได้ 10 ขลิบนั่นเอง จึงนับเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรต้นแบบที่สามารถพลิกวิกฤตภัยแล้งให้เป็นโอกาสสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว เกษตรกรที่มีปัญหาด้านการเกษตรหรือสนใจการประกอบอาชีพอิสระด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาและแก้ปัญหาการเกษตร โดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ