กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ชุดปัจจุบันและจัดอันดับหุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท “บ. ดั๊บเบิ้ล เอ (1991)” ที่ระดับ “BBB” พร้อมเปลี่ยนแนวโน้มเป็น “Negative” จาก “Stable”
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) เป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ของบริษัทในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทที่ระดับ “BBB” ด้วย การปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลประกอบการของบริษัทที่อ่อนแอลงซึ่งเป็นผลจากต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นและฐานะการเงินที่อ่อนแอลงจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ปรับลดลงซึ่งเกิดจากผลการดำเนินงานและโครงสร้างเงินทุนที่อ่อนแอลง ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากบริษัทแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่จะทำให้ผลประกอบการของบริษัทสามารถกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ ในทางตรงกันข้ามอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทใช้เวลาในการฟื้นฟูความได้เปรียบด้านต้นทุนและฐานะการเงินนานกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนของไทย รวมถึงการมีโรงงานที่มีประสิทธิภาพและมีการผลิตที่ครบวงจร ตลอดจนตราสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์กระดาษ “ดั๊บเบิ้ล เอ” อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนด้านราคาซึ่งเป็นลักษณะโดยธรรมชาติของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อและกระดาษ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมถึงอุปสงค์ของกระดาษที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การจัดโครงสร้างกลุ่มบริษัทที่ยังไม่แล้วเสร็จและธุรกรรมบางรายการระหว่างบริษัทกับบริษัทที่เกี่ยวข้องที่ยังคงมีอยู่ในช่วงการจัดโครงสร้างกลุ่มบริษัทยังคงเป็นข้อกังวลสำหรับอันดับเครดิตของบริษัท
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เป็นผู้นำในการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศไทยโดยเป็นเจ้าของโรงงานผลิตกระดาษจำนวน 3 โรงงานซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 473,000 ตันต่อปี และมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจำนวน 2 โรงงานซึ่งมีกำลังการผลิต 427,000 ตันต่อปี โดยประมาณ 85% ของเยื่อกระดาษที่ผลิตได้จะนำมาใช้ภายในเพื่อการผลิตกระดาษของบริษัท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารายได้จากการจำหน่ายกระดาษคิดเป็นประมาณ 90% ของรายได้รวมของบริษัท ในขณะที่รายได้จากการจำหน่ายเยื่อกระดาษคิดเป็น 10% ของรายได้รวม รายได้ของบริษัทมีการกระจายตัวในหลายภูมิภาค โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 รายได้ของบริษัทมาจากการจำหน่ายภายในประเทศ 33% อีก 67% มาจากการส่งออกซึ่งประกอบด้วยรายได้จากตลาดในภูมิภาคเอเซีย 52% และภูมิภาคอื่น ๆ 15%
ณ เดือนมีนาคม 2555 นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 76.2% โดยบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ได้ถอนการจดทะเบียนออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทและกลุ่มบริษัท โดยบริษัทมีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาคในปี 2552 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยบริษัทจึงต้องเลื่อนแผนดังกล่าวออกไป ในระหว่างปี 2552-2554 กลุ่มบริษัทมีการโอนย้ายและขายสินทรัพย์ระหว่างกันหลายรายการ สำหรับแผนการปรับโครงสร้างของกลุ่มบริษัทนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้งและใช้ระยะเวลานานกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้
ผลการดำเนินงานของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ในปี 2554 อ่อนแอลง แม้ว่าบริษัทจะมีรายได้ค่อนข้างคงที่ที่ 18,317 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก บริษัทรายงานผลขาดทุนจำนวน 105 ล้านบาทสำหรับปี 2554 การเพิ่มขึ้นของราคาชิ้นไม้สับและเยื่อใยยาวซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตกระดาษ ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผลประกอบการของบริษัทอ่อนแอลง
ในปี 2554 บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) มีปริมาณจำหน่ายทั้งกระดาษและเยื่อกระดาษค่อนข้างคงที่ที่ประมาณ 500,000 ตันและ 73,000 ตันตามลำดับ เนื่องจากประมาณ 70% ของรายได้ของบริษัทมาจากการส่งออก ดังนั้นการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจึงมีผลต่อรายได้รวมของบริษัท โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 7.5% และ 3.8% ในปี 2553 และ 2554 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์กระดาษนั้น บริษัทเน้นที่กระดาษพิมพ์เขียนโดยเฉพาะกระดาษรีมเล็กเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เมื่อเทียบราคากระดาษพิมพ์เขียนกับราคาเยื่อกระดาษ ราคากระดาษพิมพ์เขียนจะมีราคาที่ค่อนข้างคงที่กว่าโดยเฉพาะภายใต้ตราสินค้า “ดั๊บเบิ้ล เอ” ซึ่งมีสัดส่วนการจำหน่ายประมาณ 60% ของปริมาณการจำหน่ายกระดาษทั้งหมดของบริษัท ตราสินค้า “ดั๊บเบิ้ล เอ” ที่แข็งแกร่งช่วยให้บริษัทสามารถคงราคาขายได้ในปี 2554 ดังนั้นบริษัทจึงมีรายได้ลดลงเพียง 0.8% เหลือ 18,317 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 บริษัทมีรายได้ 10,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการปรับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษ และปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นซึ่งสามารถชดเชยราคาจำหน่ายของเยื่อกระดาษที่ลดลงได้ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 บริษัทมีปริมาณจำหน่ายเยื่อกระดาษได้เพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่รายได้จากผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษนี้ลดลง 6.8% เหลือ 881 ล้านบาท ส่วนยอดขายกระดาษนั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่รายได้จากผลิตภัณฑ์นี้เพิ่มขึ้น 4.3% เป็น 9,400 ล้านบาท
อัตรากำไรของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 เป็นต้นมาเมื่อบริษัทมีค่าใช้จ่ายด้านการตลาดเพิ่มมากขึ้นสำหรับการเปิดตลาดใหม่ในทวีปอาฟริกาและยุโรปตะวันออกเพื่อรองรับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อโรงผลิตกระดาษที่ 3 (PM#3) ของบริษัทเริ่มดำเนินงาน ซึ่งโรงงานผลิตกระดาษแห่งที่ 3 นี้จะเป็นโรงงานที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในกลุ่มด้วยกำลังการผลิตกระดาษขนาด 220,000 ตันต่อปี โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 6,400 ล้านบาท นอกจากนี้ อัตรากำไรของบริษัทยังถูกกดดันจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นโดยเฉพาะราคาชิ้นไม้สับและเยื่อใยยาว ทั้งนี้ ราคาชิ้นไม้สับเพิ่มขึ้น 11.4% ในปี 2554 และ 5.6% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทยเมื่อช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดหาไม้และ
ค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาของบริษัทจึงลดลงจาก 14.0% ในปี 2553 เหลือ 8.2% ในปี 2554 สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 อัตรากำไรดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 10.1% จากการลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดของบริษัท อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรของบริษัทยังคงต่ำกว่าในอดีตที่บริษัทเคยทำได้ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 15.0% ระหว่างปี 2547 ถึงปี 2551
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) น่าจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคตหากกลยุทธ์การจัดหาวัตถุดิบของบริษัทประสบความสำเร็จ และหากโรงงานกระดาษแห่งใหม่ของบริษัทเริ่มดำเนินงาน ปัจจุบันบริษัทเริ่มจัดหาไม้ตามกลยุทธ์ใหม่โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นกระดาษบนคันนาและบริษัทรับซื้อไม้โดยตรงจากผู้ปลูก กลยุทธ์นี้คาดว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบของบริษัทและช่วยให้มั่นใจได้ถึงปริมาณไม้ที่เพียงพอกับความต้องการของบริษัทในระยะยาว ประโยชน์ดังกล่าวนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นผลได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนลดการใช้เยื่อใยยาวโดยจะใช้เฉพาะเยื่อใยสั้นสำหรับการผลิตกระดาษหลังจากที่โรงงานกระดาษแห่งที่ 3 ของบริษัทเริ่มดำเนินงานในช่วงปลายปี 2555
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) อ่อนแอลงในช่วงปี 2553-2555 ภาระหนี้เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 13,754 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 เป็น 18,777 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 โดยหนี้ส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้สำหรับการสร้างโรงงานกระดาษแห่งที่ 3 ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 บริษัทบันทึกส่วนเกินทุนจากการตีราคาที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ของกลุ่มบริษัทที่ประมาณ 3,400 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังอยู่ที่ระดับประมาณ 58% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) (DA)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
AA136A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ BBB
AA148A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ BBB
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2560 BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative (ลบ)