กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) กล่าวว่า กลุ่มเกษตรเสรี หมู่ที่ 1 บ้านโรงเข้ ตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรของกลุ่มเกษตรกรเสรี รหัสองค์กร 7447000060 เสนอขอรับการสนับสนุนโครงการ “พัฒนาอาชีพการเกษตรแบบผสมผสาน” งบประมาณ 5 แสนบาท เมื่อปี 2551 ระยะเวลากู้ 5 ปี ผ่อนชำระ 5 งวด ๆ ละ 112,500 บาท โดย กฟก. มีความมุ่งหวังให้กลุ่มเกษตรกรเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้กับสมาชิกให้สมาชิกใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อลดต้นทุน การเพิ่มมูลค่าผลผลิต และค้นหาจุดความพอดีให้เกิดรายได้ที่สูงสุด ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ จากการทำกิจกรรมร่วมกัน และนำไปใช้ในบ่อของตัวเองและถ่ายทอดสู่สมาชิกอื่น ๆ ได้ รวมถึงการแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพของตนเองได้อย่างตรงจุดอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนสามารถพึ่งพาตนเองได้
นายประหยัด พันธสอน ประธานองค์กรกลุ่มเกษตรเสรี กล่าวว่า เกิดจากการที่เกษตรกรจำนวน 70 คน รวมตัวกันสมัครเป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกร ภายใต้ชื่อ องค์กรเกษตรเสรี ก่อตั้งในปี พ.ศ.2547 สมาชิกในกลุ่มอาศัยและทำการเกษตรอยู่บริเวณอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลา และเลี้ยงกุ้ง อาชีพทำสวนมีส่วนน้อย
เมื่อก่อนกลุ่มทำอาชีพเลี้ยงปลาสลิด แต่ติดปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงจนเกินไปทำให้ทางกลุ่มเปลี่ยนจากเลี้ยงปลาสลิดมาเลี้ยงปลานิล และกุ้งแทน ซึ่งปลานิลที่เลี้ยงมี 2 สายพันธุ์ คือ ปลานิลจิตลดา และปลานิลหมัด แต่ปีหลัง ๆ มาเลี้ยงพันธุ์หมัดอย่างเดียวเพราะใช้ต้นทุนน้อย แต่ปัญหาในการเลี้ยงปลานิลก็ยังไม่จบอยู่แค่นั้นเนื่องจากราคาในท้องตลาดต่ำมาก ไม่สอดคล้องกับราคาอาหารของปลาที่นับวันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทางกลุ่มจึงเร่งปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางออกของปัญหาได้ว่า จะต้องนำวิธีทางธรรมชาติเข้ามาช่วยลดต้นทุน คือ เลี้ยงปลานิลให้ปลานิลได้กินเศษพืช ผัก ให้อาหารเสริมเป็นบางครั้ง ส่วนกุ้งก็ให้กินขี้ของปลานิล จากแนวคิดนี้ก็สามารถลดต้นทุนในการเลี้ยงได้ทั้งปลานิลและกุ้ง ในส่วนของการบำบัดน้ำเสียในบ่อเลียงปลาและกุ้งทางกลุ่มเกษตรเสรี ได้นำวิธีการทางธรรมชาติมาปฏิบัติอีกเช่นกัน โดยการนำจุลินทรีย์มาใช้ในการบำบัดน้ำเสียซึ่งผลที่ออกมาก็มีประสิทธิภาพอย่างดี
นอกจากนั้นกลุ่มเกษตรเสรียังได้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า โดยการนำปลานิลแดดเดียวและนำไปวางขายในท้องตลาดได้ผลกำไรดีเพิ่มขึ้นจากเดิม ขณะนี้กำลังพัฒนาเพื่อต่อยอดเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพยิ่งขึ้น
กลุ่มเกษตรเสรี ได้รับงบอุดหนุน จากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2551 ถึงปัจจุบัน องค์กรเกษตรเสรี ได้มีการประชุมหารือกันอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน มีการออมทรัพย์ โดยออมเงินวันละ 1 บาท ขณะนี้มีเงินออมทรัพย์รวมจำนวน 62,000 บาท จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นทำให้สมาชิกในกลุ่มเกษตรเสรีกลับมายืนได้อีกครั้ง รวมถึงมีความเข้มแข็งและครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนายประหยัดกล่าว.