ปภ.สร้างศักยภาพชุมชนเข้มแข็ง จัดการภัยพิบัติยั่งยืน ตามหลัก 3 รู้ : ‘เรียนรู้’ 4 ต้อง : ‘สู้ภัย’ 2 ปรับ : ‘ใช้ชีวิตคู่น้ำ’

ข่าวทั่วไป Wednesday August 22, 2012 14:05 —ThaiPR.net

Bangkok--22 Aug--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสริมสร้างศักยภาพชุมชนเสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามหลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นฐาน เน้นแนวคิด “เรียนรู้ สู้ภัย ใช้ชีวิตคู่น้ำ” แนะชุมชนใช้หลัก 3 รู้ : ‘เรียนรู้’ 4 ต้อง : ‘สู้ภัย’ 2 ปรับ : ‘ใช้ชีวิตคู่น้ำ’ เพื่อสร้างความปลอดภัยจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ด้วยสภาพพื้นที่ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มและพื้นที่รับน้ำ ในช่วงฤดูฝนจึงมีความเสี่ยงต่อการเผชิญสถานการณ์อุทกภัย เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมรับมือภัยพิบัติและสามารถปรับวิถีการใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพความเสี่ยงภัยได้อย่างปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ดำเนินโครงการศึกษาและอบรมตามวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถอยู่กับสภาพน้ำท่วมได้อย่างปลอดภัยตามนโยบายของรัฐบาล ในพื้นที่ 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อให้คนในชุมชนร่วมคิด ร่วมวางแผน และดำเนินการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยนำทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ในการเตรียมการรับมือ ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว มุ่งเน้นการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “เรียนรู้ สู้ภัย ใช้ชีวิตคู่น้ำ” นายวิบูลย์กล่าวแนะว่า ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องมีแนวทางจัดการภัยพิบัติเบื้องต้นในพื้นที่ ตามหลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน ดังนี้ 3 รู้ : เรียนรู้ รู้จักภัย (สภาพความเสี่ยงภัย โอกาสเกิดภัย ลักษณะความรุนแรง ช่วงเวลาในการเกิดภัย) รู้จักชุมชน (จุดเสี่ยงภัย จุดปลอดภัย เส้นทางอพยพ จุดรวมพลที่ปลอดภัย ทรัพยากรในการจัดการภัย) รู้หลักจัดการภัย (สังเกตและเฝ้าระวังภัย วางระบบแจ้งเตือนภัย วิธีอพยพ การปฏิบัติตนขณะเกิดภัย) 4 ต้อง : สู้ภัย ต้องมี (ความพร้อมรับมือภัยพิบัติ แผนป้องกันภัย คณะกรรมการป้องกันภัยชุมชน กองทุนจัดการภัย อาสาสมัครเฝ้าระวังภัย ระบบแจ้งเตือนภัย ทีมช่วยเหลือผู้ประสบภัย เครือข่ายสนับสนุนนอกพื้นที่) ต้องทำ (จัดกิจกรรมให้ความรู้ ฝึกซ้อมแผนป้องกันภัย ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณฝน และระดับน้ำ แจ้งเตือนและอพยพทันที) ต้องใช้ (นำวัสดุอุปกรณ์มาปรับใช้ในการป้องกันและแจ้งเตือนภัย เช่น การตีเกราะเคาะไม้ เป็นต้น) ต้องเตรียม (สิ่งของจำเป็นสำหรับยังชีพ เอกสารสำคัญไว้ในซองกันน้ำ ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ย้ายปลั๊กไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าพ้นแนวน้ำท่วม อุดช่องที่น้ำไหลเข้าบ้าน ทำแนวคันกั้นน้ำ) 2 ปรับ : ใช้ชีวิตคู่น้ำ ปรับปรุง (ปรับโครงสร้างบ้าน และจัดสภาพแวดล้อมรอบบ้าน เช่น ถมพื้น ดีดบ้าน สร้างบ้านมีใต้ถุนสูง เป็นต้น และปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตในช่วงน้ำท่วม เช่น การหาเลี้ยงชีพ เป็นต้น) ปรับเปลี่ยน (นำอุปกรณ์ที่มีอยู่มาใช้ในการดำเนินชีวิตช่วงน้ำท่วม เช่น นำขวดพลาสติกมาเป็นเสื้อชูชีพ นำยางรถยนต์ กะละมัง มาเป็นพาหนะในการเดินทาง ดัดแปลงเก้าอี้เป็นสุขาเคลื่อนที่) นายวิบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิด “เรียนรู้ สู้ภัย ใช้ชีวิตคู่น้ำ” เป็นหลักพื้นฐานที่ ปภ.ส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยง อุทกภัย 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา นำไปเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ เพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพในการรับมือสาธารณภัย และเป็นกำลังสำคัญในการประสานการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อสร้างความปลอดภัยอย่างยั่งยืนสู่ชุมชน “ชุมชนเข้มแข็ง จัดการภัยยั่งยืน มาร่วมสร้างความปลอดภัยให้ชุมชน เพื่อทุกชีวิตปลอดภัย”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ