กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย)
ซีเกทร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย จัดแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2548 (Robocup Thailand Championship 2005)
บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย แถลงข่าว การจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2548 (Robocup Thailand Championship 2005) เพื่อคัดเลือกทีมชนะเลิศ เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก (RoboCup 2005) ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2548
รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า "เหตุผลที่ทางสมาคมฯและบริษัทซีเกท ยังคงจัดการแข่งขันรายการนี้อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 คือ ประการแรก การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงที่สุดในบรรดาการแข่งขันหุ่นยนต์ทั้งหมด การจัดการแข่งขันนี้จะทำให้เทคโนโลยีของประเทศไทยโตแบบก้าวกระโดดได้ เหตุผลประการที่สองคือพัฒนาการของนักศึกษาไทยกำลังเข้ารูปเนื่องจากนักศึกษามีพื้นฐานบ้างแล้ว ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ ทำให้มีความต่อเนื่องทางด้านเทคโนโลยี และเหตุผลประการสุดท้ายคือผลพลอยได้ของเทคโนโลยีที่ใช้ในการแข่งขันสามารถนำไปใช้ในอตสาหกรรมในประเทศได้ เช่น หลักการทางแมชีนวิชั่นสามารถนำไปในการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หลักการสื่อสารไร้สายสามารถนำไปใช้ในการควบคุมระยะไกลในอุตสาหกรรม การก่อสร้างและพลังงาน หลักการการทำงานร่วมกันของหุ่นยนต์สามารถนำไปใช้ในการประกอบชิ้นส่วนของ อุตสาหกรรมรถยนต์ หลักการออกแบบกลไกสามารถนำไปใช้ในการออกแบบกลไกระบบทดกำลังและส่งต่อกำลังของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม ทุกประเภทได้"
นางสุภา โภคาชัยพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "การสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2548 สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของซีเกทในการสนับสนุนกิจกรรมการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน โดยเป็นผู้นำของบริษัทข้ามชาติที่ดำเนินงานในประเทศไทยซึ่งสนับสนุนกิจกรรมที่จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
บริษัทซีเกทได้สนับสนุนการจัดการแข่งขันและรางวัลสำหรับทีมหุ่นยนต์ที่ชนะในประเภทต่างๆ จำนวน 4 รางวัลคือ ทีมชนะเลิศประเทศไทยจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก (Robocup 2005) ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2548 ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท ทีมที่ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมจะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท ส่วนทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายด้วยคะแนนสูงสุด 8 ทีมแรก จะได้รับรางวัลทีมละ 20,000 บาท" นางสุภากล่าวเสริม
ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ประธานการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2548 และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "การแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 2 รอบคือ รอบคัดเลือกและรอบสุดท้าย ในการแข่งขันรอบคัดเลือก ผู้เข้าแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติแบบไร้สายและรับสัญญาณภาพจากกล้อง ทีมละหนึ่งตัวเพื่อทดสอบสมรรถภาพของหุ่นยนต์ในการเล่นฟุตบอล ทีมที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด 12 ทีมแรกจะได้เข้าไปแข่งขันในรอบสุดท้าย ในการแข่งขันรอบสุดท้าย ผู้เข้าแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ใช้ระบบการมองเห็นขนาดเล็กทีมละไม่เกิน 5 ตัว เพื่อแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ ซึ่งมีเวลาในการแข่งขันทั้งหมด 20 นาที แบ่งเป็นครึ่งแรก 10 นาที และครึ่งหลัง 10 นาที ทีมที่ทำประตูได้มากกว่า จะเป็นผู้ชนะ การแข่งขันจะเป็นแบบพบกันหมด ทีมที่ได้คะแนนสูงที่สุดของแต่ละสายจะมาแข่งขันกันเพื่อคัดเลือกทีมชนะเลิศประเทศไทย"
ในการสมัครเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2548 สมาชิกในแต่ละทีมต้องเป็นนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา หรือสูงกว่า และมีสัญชาติไทย มีสมาชิกในทีมไม่เกิน 3 คน และมีอาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนการแข่งขันโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ผู้สนใจสามารถลงทะเบียน ดูกติกาและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.trs.or.th
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและ เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการเพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายนักวิจัยและนักวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ที่ โทร. (66-2) 524-5229 หรือโฮมเพจ http://www.trs.or.th
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิต และการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อันหลากหลายสำหรับองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โมไบล์ คอมพิวติ้งและเครื่องใช้ไฟฟ้า (คอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์) บริษัทมีความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล และมีคุณภาพดีที่สุดเพื่อ ตอบสนองความต้องการการบันทึกข้อมูลที่เพิ่มขึ้นของโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและพบข้อมูลซีเกทที่ www.seagate.com
หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล
นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย โทร. 0-2524-5229
หรือคุณขวัญจิต สุดสวัสดิ์
ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ซีเกทฯ โทร. 0-2715-2919--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--