กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--สหมงคลฟิล์ม
“ยักษ์”โปรเจ็คต์ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์ทุนสร้างกว่า100ล้านบาทที่ค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง “สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล” จับมือร่วมกับ3พันธมิตรอย่างบ้านอิทธิฤทธิ์ โปรดักชั่นเฮาส์ทีมผลิตแอนิเมชั่นที่คร่ำหวอดและอยู่เบื้องหลังงานโฆษณา,มิวสิควิดีโอและภาพยนตร์ต่างๆ มานับไม่ถ้วน บ.ซูเปอร์จิ๋ว ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์วาไรตี้ขวัญใจเด็กๆและคุณพ่อคุณแม่ยืนหยัดยาวนานมากว่า21ปีและบ.เวิร์คพอยท์พิคเจอร์สในการผนึกกำลังสร้างสรรค์ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นสายเลือดไทยที่กลั่นจากสมองและสองมือกำกับของ พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ครีเอทีฟนักคิดนักเขียนนักแต่งเพลง ฯลฯ อันดับต้นๆ ของประเทศที่คิดฝันอยากทำการ์ตูนมาค่อนชีวิต ผ่านลายเส้นดีไซน์การออกแบบอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยเอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ (ชนะเลิศ FIRST PRIZE:SIGGRAPH 1998 ซึ่งเปรียบได้กับรางวัลออสการ์สำหรับนักศึกษา)การประกวดผลงานแอนิเมชั่น ประเภทนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก โดยใช้เวลากว่า 6 ปีจนถึงวันนี้พวกเขาพร้อมแล้วที่จะร่วมกันพา “ยักษ์” ออกเดินเข้าไปอยู่ในใจคอการ์ตูนแอนิเมชั่นอย่างภาคภูมิใจ 4 ต.ค.นี้ทุกโรงภาพยนตร์ทั่วไทยทั้งในแบบเสียงไทยและเสียงภาษาอังกฤษ
เสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ผู้สร้างแอนิเมชั่น “ยักษ์”
หัวเรือใหญ่แห่งค่ายหนังใหญ่ยักษ์ “สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล”
“ตั้งแต่คุณจิกมาเสนอชวนทำโปรเจ็คต์ยักษ์ด้วยกันว่าอยากหยิบรามเกียรติ์มาทำหนังโดยเอาทศกันฐ์ หนุมานมาทำเป็นหุ่นแล้วสู้กัน แน่นอนว่าเรื่องทศกันฐ์มันดีแน่ ใครๆ ก็รู้จักไม่ใช่แค่เมืองไทยด้วย เพราะเรื่องรามเกียรติ์เป็นเรื่องของเอเชีย ผมยังคิดในใจว่าการ์ตูนที่จะสร้างจะออกมาเป็นอย่างไรนี่เป็นหนังเรื่องแรกที่เราร่วมกับคุณจิกประภาส ชลศรานนท์ และเวิร์คพอยท์พิคเจอร์โดยเขาได้ไปชักชวนพรรคพวกมาร่วมทุนด้วยอย่างบ้านอิทธิฤทธิ์, ซูเปอร์จิ๋ว เราลงทุนไป 100 กว่าล้าน รอจนถึงวันนี้การ์ตูนเสร็จแล้ว ลองคิดในใจดูว่าเรารอมา 5-6 ปีกว่าจะได้เห็นภาพนี้ ยังจำได้วันที่คุณจิกชวนผมดูหนัง โอ้โห! คิดไม่ถึงว่าทางคุณจิกจะทำออกมาได้ดีอย่างนี้ ภาพทุกภาพสวยมากมีครบทั้งฉากบู๊ฉากรบตอนสนุกต่อสู้ผจญภัยแล้วตัวหนังก็สนุกมาก เป็นหนังการ์ตูนที่ครบรสพูดได้ว่ารู้สึกพอใจมาก อยากเชิญชวนให้คนดูทุกคนลองมาดูหนังการ์ตูนคนไทยเรื่องนี้ ว่าคนไทยเราก็มีฝีมือนะอย่างน้อยๆ ช่วยให้กำลังใจคนไทยบ้างที่ทุ่มเททำผลงานออกมาได้ขนาดนี้ เพื่อที่จะได้มีคนไทยที่ยังทำหนังการ์ตูนต่อไปได้อีก ส่วนตัวผมรู้สึกภูมิใจและพอใจอย่างมาก คุณจิกทำได้ดีมากๆ”
“โอ๋-พาณิชย์ สดสี” หัวเรือใหญ่ “เวิร์คพอยท์พิคเจอร์ส”
ผู้ควบคุมงานสร้างแอนิเมชั่น“ยักษ์”
“คือการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องยักษ์เป็นหนังที่เป็นเรื่องราวของเพื่อน เราได้แรงบันดาลใจมาจากรามเกียรติ์ แต่ว่าไม่ใช่รามเกียรติ์เอามาสร้างใหม่นะ มันเป็นเรื่องเล่าอีกอย่างเลย มันคือศัตรูเก่าที่รบกันมาทุกเวอร์ชั่นของทุกประเทศในเอเชีย เล่าใหม่ในเวอร์ชั่นที่เป็นเพื่อนกัน ศัตรูที่ความทรงจำหายไปมาเป็นเพื่อนกัน ความทรงจำกลับคืนมาจะเกิดอะไรขึ้น ในเมื่อคนเป็นเพื่อนกันจำได้ว่าเป็นศัตรูแล้วจะเป็นยังไง เล่าอีกแบบหนึ่งเลย เล่าแบบงานเขียนของพี่จิก เล่าโดยเพลงของพี่จิก เล่าโดยความรู้สึกที่อยากเล่าแบบพี่จิก เล่าโดยลายเส้นการ์ตูนของเอ็กซ์มีความเฉพาะตัวมาก มันน่าจะเป็นส่วนผสมที่ดีมากๆ สำหรับพี่รู้สึกว่านอกจาก บทภาพยนตร์ที่สนุก การออกแบบงานสร้างที่ งดงาม แตกต่าง และมีเอกลักษณ์ เนื้อหาดูแล้วมีอะไรให้คนดูในแง่ ความลึกของเรื่องราวและอารมณ์มากๆ เป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้ชมจะสนุกสนานไปกับหนังเอนิเมชั่น”
วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ —ผู้สร้างร่วมภาพยนตร์แอนิเมชั่น “ยักษ์”
พี่ซุป “ซูเปอร์จิ๋ว” ผู้เชื่อมั่นในพลังของการ์ตูนแอนิเมชั่น
“ความทรงจำที่ประทับใจสมัยอดีตของผมก็คือทุกเย็นก่อนกลับบ้าน ครูจะให้นักเรียนทั้งห้องท่องอาขยาน "บัดนั้น พระยาภิเภกยักษีเห็นพระองค์ทรงโศกโศกี อสุรีกราบลงกับบาทาทูลว่าพระลักษณ์สุริยวงศ์ยังไม่ปลงชีวังสังขา อันโมขศักดิ์อสุรา พรหมาประสิทธิ์ประสาทไว้" เราผูกพันกับ รามเกียรติตั้งแต่วันนั้นโตขึ้นมา ความบันเทิงที่สุดของเราก็คือ การดูการ์ตูนทอม แอนด์ เจอรี่, หน้ากากเสือ, โดราเอม่อน ฯลฯเราเป็นเด็กที่โตมากับการ์ตูนต่างชาติ เมื่อถึงวัยทำงาน21ปี ที่มีโอกาสงานสร้างสรรค์รายการซูเปอร์จิ๋ว ประสบการณ์ที่ผูกพันกันทำให้เราเกิด "Dream" มีความฝันว่า วันหนึ่งเราอยากทำแอนิเมชั่นสัญชาติไทยให้ลือลั่นสักครั้งในชีวิต ผมแทบจะตอบรับในทันทีที่ได้รับได้รับคำชวนให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็คต์ภาพยนตร์"ยักษ์"เพราะศรัทธา ในทุกผลงานของพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ เชื่อมือการแอนิเมชั่นของคุณเอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ และเชื่อมั่นในมุมมองของสหมงคลฟิลม์ฯ หลายปีที่ผ่านมานี้ยักษ์พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และพร้อมแล้วที่จะให้ทุกคนได้ชม ถึงวันนี้ความตื่นเต้นของเราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
อยากให้ทุกคนได้ดูได้ชมได้แรงบันดาลใจจากการชมภาพยนตร์"ยักษ์"แอนิเมชั่น สำหรับคนทุกเพศทุกวัยผมเชื่อว่าทุกคนจะรัก และภูมิใจกับ "ยักษ์ "ไปด้วยกันครับ
เอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์
ร่วมกำกับภาพยนตร์และกำกับแอนิเมชั่น “ยักษ์” ผู้ก่อตั้ง “บ้านอิทธิฤทธิ์”
“เสน่ห์ของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่บท เป็นสิ่งแรกที่ทำให้ผมและทีมงานอยากทำเลยและบทที่พี่จิกเขียน มันแข็งแรงพอที่จะมาทำการ์ตูน แล้วคาแร็คเตอร์ที่ผมนำไปให้พี่จิกดูมันเข้ากันได้พอดี จนเรามาช่วยกันทำให้มันออกมาสมบูรณ์มากขึ้น เอาความเป็นสากลกับความเป็นไทยมาผสมกัน ที่สำคัญผมรู้สึกว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่การ์ตูนนะ ผมเคยคุยกับพี่จิกว่าการ์ตูนเรื่องนี้มันเป็นการ์ตูนคน มันเป็นการ์ตูนคนแสดง เราจะทำการเคลื่อนไหวอิงจากคนจริงๆ หมายถึงการเคลื่อนไหวมันจะเป็นตามจริง เช่น ยักษ์วิ่ง-เดินก็เดินหนักๆ ช้าๆ จริงๆ ยักษ์เศร้าก็เศร้าจริงๆ มันจะเป็นงานที่ไม่ใช่การ์ตูนที่เด็กมาก เราจะไม่ให้การเคลื่อนไหวดูเป็นการ์ตูนเกินไป แต่ถ้าอันไหนเป็นฉากสนุกๆ เราจะทำการเป็นเคลื่อนไหวเป็นแบบการ์ตูนไว้บ้างเช่นฉากร้องเพลง แต่อะไรที่แสดงอารมณ์เยอะๆ ผมจะให้แอนิเมเตอร์อิงจากจากการเคลื่อนไหวของคนพากย์ให้ใกล้เคียงที่สุดครับ ถึงจะเป็นหุ่นแต่เราต้องทำให้คนเชื่อก่อนว่าตัวนี้มันไม่ใช่แค่อนิเมชั่นนะ มันเป็นหุ่นที่มีชีวิตจริงๆ มีการเคลื่อนไหวแบบคนจริงๆ มีอารมณ์มีความรู้สึกต่างๆ มีโกรธกัน มีงอนกัน มีสู้กัน มีความเจ็บปวด เป็นหนังที่จะเล่าถึงความรู้สึกของเพื่อนเน้นความสัมพันธ์ อารมณ์สูงมาก”
ประภาส ชลศรานนท์ ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยง “ยักษ์”
“ทุกงานที่ผมทำมันมักจะมีตัวเราเข้าไปอยู่เหมือนเพลงของเฉลียง เหมือนเรื่องสั้น เหมือนบทละคร แอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็มีตัวเราเข้าไปอยู่ สิ่งแรกที่ผมตั้งใจให้คนดูได้ก็คือความสนุกและความตื่นใจ ความตื่นใจเวลาดูหนังนี่มันเป็นความสุขนะ และผมก็คิดว่าคนดูแต่ละวัยจะได้อะไรเพิ่มนอกจากความสนุก มีหลายความคิดที่ผมสอดแทรกไว้ในหนัง หัวใจของยักษ์คือเรื่องมิตรภาพเรื่องหน้าที่ ทำไมผมถึงอยากพูดเรื่องนี้ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ มันทำให้เราเดินต่อในชีวิตอย่างราบรื่น คำถามมากมายที่ผมตั้งไว้ในหนังไม่ว่าจะเป็น เราเกิดมาทำไม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหน้าที่ของเราคืออะไร หรือถ้าเราถูกกำหนดให้มีหน้าที่รบกันไปตลอด ที่แท้แล้วมันคือหน้าที่ของเราจริงๆ หรือเปล่า ?
ที่ชื่อเรื่องยักษ์เพราะยักษ์ภาษาไทยมันไม่ได้แปลว่าใหญ่อย่างเดียว มันแปลว่าดุร้ายด้วย ยักษ์มันแทนสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของคน พลังมหาศาลอย่างยักษ์นี่ถ้าเราคุมมันได้มันก็จะเป็นพลังที่ยอดเยี่ยม สังเกตดีๆ ในหนังยักษ์จะมีบางช่วงที่มีเหตุฉุกเฉินพลังของเขาจะออกมาเอง หรือว่าพอเขาจะช่วยเพื่อนไอ้พลังอันยิ่งใหญ่ตัวนี้ก็จะออกมา ยักษ์มันเป็นทั้งความรักและความโกรธ เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย นี่คือพลังที่แอบอยู่ในมนุษย์ทุกคน ถ้าคุมมันไม่อยู่มันก็จะออกมาคุมเราเอง”
ทำไมต้องยักษ์? พลิกรูปแบบรามเกียรติ์ในอวตารที่สิบล้านเอ็ด
ด้วยความชื่นชอบและหลงใหลในตัว “ทศกัณฐ์”ราชันย์แห่งผองยักษ์ ตัวละครเอกแห่งมหากาพย์รามายณะสุดยอดวรรณกรรมของชาวเอเชียที่
“ประภาส ชลศรานนท์”มองว่านี่คือสุดยอดงานครีเอทีฟที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ชิ้นเอกที่ปรากฏขึ้นบนผืนพิภพ พูดได้ว่ามนต์เสน่ห์ของ “ทศกัณฐ์” ยักษ์ 10 หน้า 20 แขน 20 มือและเหล่าตัวละครอันหลากหลายรวมทั้ง “หนุมาน” ทหารเอกของพระราม ที่ซนยังกะเด็กแต่ถึงกระนั้นก็คือฮีโร่ที่เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์ชนิดที่ยากจะหาใครเทียบทานโดยเฉพาะหางหนุมานที่มัดภูเขาบรรพตได้ทั้งลูกรวมไปถึงบรรดาฉากรบแห่งจินตนาการต่างๆ ในมหากาพย์รามายณะคือภาพจำที่ติดตามาตลอดชีวิตและหวังไว้ว่าวันหนึ่งจะต้องนำสิ่งที่ตนเองรักนำมาทำอะไรสักอย่าง
จนกระทั่งเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วโปรเจ็คต์ “ยักษ์” ก็ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบของภาพยนตร์โดยมีประภาส ชลศรานนท์รับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ จากแนวคิดและไอเดียของตนเองร่วมเขียนบทภาพยนตร์กับพัลลภ สินธุ์เจริญ เพียงทว่าไม่ใช่ภาพยนตร์คนแสดงแต่เป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นอย่างเต็มรูปแบบ หลายคนอาจแปลกใจที่ครีเอทีฟนักคิดนักเขียนระดับแถวหน้าของประเทศลุกขึ้นมากำกับหนังการ์ตูน แต่ถ้าใครที่ได้สัมผัสและรู้จักตัวตนของประภาสแล้วจะรู้ว่าเขาคิดเขาฝันที่จะทำหนังการ์ตูนมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
“เรื่องการทำการ์ตูนแอนิเมชั่นเป็นสิ่งที่อยากทำมามากกว่าสิบปีแล้ว แต่มันยังหามือคู่ใจไม่ได้ และโดยเทคนิควิธีการในขั้นตอนการทำแอนิเมชั่น พอเราได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาจริงๆ จังเลยรู้ว่า หนึ่งมันต้องใช้เงินเยอะมาก สองเราต้องไปใช้ทีมงานในต่างประเทศด้วย เพราะถ้าจะพึ่งคนเขียนคนวาดแค่ในประเทศไทยอย่างเดียวก็คงไม่พอ คือเราก็ศึกษาหาข้อมูลมาตลอดนะ แต่เรารู้ว่ายังทำไม่ได้ก็ไม่คิดอะไร ก็หันไปทำอย่างอื่นก่อนจนกระทั่งวันหนึ่งได้เจอเอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ (ดีกรีชนะเลิศ FIRST PRIZE:SIGGRAPH 1998 ซึ่งเปรียบได้กับรางวัลออสการ์สำหรับนักศึกษา การประกวดผลงานแอนิเมชั่น ประเภทนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก) ซึ่งเพิ่งกลับมาจากอเมริกาใหม่ๆ แล้วตอนนั้นเทคโนโลยีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำแอนิเมชั่นพัฒนาไปไกล แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดว่าโอกาสที่จะได้ทำการ์ตูนเริ่มจะมีความเป็นไปได้ และเป็นที่มาที่ทำให้ตัดสินใจเปิดบริษัทบ้านอิทธิฤทธิ์ขึ้นพร้อมกับโปรเจ็คต์ที่จะทำการ์ตูนแอนิเมชั่น”