กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--ศสส.
“แค่เด็กตัวเล็กจะทำอะไรได้? ...”
นี่อาจจะเป็นคำที่ใช้กับเด็กและเยาวชนจากคณะ "หมอลำหุ่น" กลุ่ม "ออมทอง" จ.มหาสารคามไม่ได้ เพราะเมื่อไม่นานมานี้เยาวชนกว่า 17 คน ที่มีอายุ ตั้งแต่ 7 — 14 ปี ได้ไปโชว์ฝีไม้ลายมือการแสดงหมอลำหุ่น ให้กับพี่ๆ ที่เป็นนักศึกษาหลักสูตรสาขาวิชาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้ชมและร่วมกันอนุรักษ์ สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของอีสานร่วมกัน
โดยนางสาวชิตวัน สมรูป ผู้รับผิดชอบโครงการ “หมอลำหุ่น... สื่อศิลปะฯ เพื่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมเสพติดวัตถุนิยมในหมู่เยาวชน” บอกว่า กิจกรรม “หมอลำหุ่น” สัญจร ใช้สื่อศิลปะเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม ที่ มรภ.มหาสารคาม นี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ ศสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ที่ต้องการเผยแพร่ชิ้นงานสื่อศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงต้นแบบในรูปแบบ “หมอลำหุ่น” ที่ดำเนินเรื่องราวเพื่อขัดเกลาจิต ปัญญา อันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงจากภายในและการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมเสพติดวัตถุนิยมในเยาวชน และเป็นการส่งเสริมให้เกิด “ศิลปะสร้างสรรค์ พื้นที่สร้างสรรค์ บุคคลต้นแบบ ชุมชนต้นแบบ” ที่มุ่งหวังกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติและค่านิยมเสพติดวัตถุนิยมให้กับเยาวชน ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ เยาวชน ศิลปิน ผู้นำชุมชน เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชุมชนต่อไป
“โดยกิจกรรมนั้นจะเน้นการมีส่วนร่วมโดยใช้ “หุ่น” มาเป็นสื่อกลางในกระบวนการเรียนรู้ ทั้งการสร้างสรรค์ตัวหุ่น ซึ่งมีครูเซียง นายปรีชา การุณ เป็นผู้สอน, การเรียนรู้ทักษะการเชิดและการละคร โดยมีน้องๆ จากคณะ “เด็กเทวดา” เป็นผู้ถ่ายทอด, การเรียนรู้และฝึกการร้องหมอลำพื้นบ้าน ซึ่งมีศิลปินพื้นบ้านต้นแบบอย่าง พ่อครูหมอลำ ทองจันทร์ ปลายสวน และแม่ครูหมอลำ พจรินทร์ ปะรินทร มาเสริมความรู้ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ชัดเจนขึ้น” ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่า
หลังจากได้ทั้งลงมือทำ ได้แสดง และเรียนรู้-ร้องกลอนหมอลำพื้นบ้านจากพ่อครู แม่ครูหมอลำ และครูแคนแล้ว นศ.ศิลปกรรม ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาสามารถค้นพบศักยภาพของตัวเองและได้ปลุกพลังสร้างสรรค์ในตัว ผ่านแรงบันดาลใจจากการเห็นการแสดงและความสามารถของ “เด็กเทวดา” เป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลองสัมผัสศิลปะพื้นบ้านอย่าง “หมอลำหุ่น” ที่ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาและสื่อศิลปวัฒนธรรมของอีสานแบบตัวต่อตัว ถ้าคิดเป็นมูลค่า มันประมาณมิได้เลย
ซึ่งอาจารย์สาขาวิชาศิลปกรรม เองก็ยังบอกกันเป็นเสียงเดียวกันด้วยว่า ไม่คิดว่าเด็กๆ ที่ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีวินัย หาตัวเองไม่เจอ ทั้ง 4 ชั้นปี กว่า 60 คน ที่มาร่วมกิจกรรมนี้จะสามารถพลิกตัวเองได้ในเวลาที่จัดกิจกรรมเพียงแต่ 3 วัน และสามารถสร้างสรรค์ผลงานหุ่นเงาจากวรรณกรรมอีสาน เรื่อง “ปาจิต-อรพิม” และร้องเป็นกลอนหมอลำได้
นี่ก็พิสูจน์ละลบคำที่ว่า แค่เด็กตัวเล็กจะทำอะไรได้? ลงได้ ทั้งยังทำให้เยาวชนทั้งหมดได้ค้นพบว่าไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าได้เปิดใจและลงมือทำ