สถาบันคุ้มครองเงินฝากเผยผลสำรวจแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองเงินฝาก 3 แบบสากล

ข่าวทั่วไป Friday August 24, 2012 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--สคฝ. สถาบันคุ้มครองเงินฝากเปิดเผยผลการสำรวจข้อมูลการกำหนดแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองเงินฝาก 3 แบบสากล ชี้ไทยมีแนวปฏิบัติเดียวกับประเทศส่วนใหญ่คือให้คุ้มครองเงินฝากบุคคลธรรมดาเท่ากับผู้ฝากนิติบุคคล ซึ่งช่วยเสริมความเชื่อมั่นระบบการเงิน ลดความตื่นตระหนก นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าจากการสำรวจข้อมูลการกำหนดประเภทบัญชีหรือผู้ฝากเงินที่อยู่ในข่ายได้รับความคุ้มครองของสถาบันประกันเงินฝากในต่างประเทศ โดยประเทศที่เลือกมาทำการศึกษา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย พบว่าทุกประเทศให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากรายย่อย ส่วนผู้ฝากรายใหญ่ ได้แก่ กลุ่มนิติบุคคลประเภทต่างๆ นั้น มีลักษณะการให้ความคุ้มครองแตกต่างกันไป จำแนกได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ประเทศที่ให้ความคุ้มครองเงินฝากของบุคคลธรรมดาและวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) เท่านั้น โดยเน้นหลักการให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้ฝากเงินรายย่อยที่ไม่มีความเชี่ยวชาญทางการเงิน ได้แก่ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มที่สองคือประเทศที่ให้ความคุ้มครองเงินฝากของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเท่าเทียมกัน ภายใต้วงเงินคุ้มครองที่กำหนด ซึ่งประเทศส่วนใหญ่รวมทั้งประเทศไทยใช้แนวทางนี้ อาทิ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง เป็นต้น และกลุ่มที่สามคือประเทศที่ให้ความคุ้มครองเงินฝากของบุคคลธรรมดาและคุ้มครองเงินฝากของนิติบุคคลที่เปิดบัญชีเงินฝากสวัสดิการเพื่อการเกษียณอายุ หรือเป็นบัญชีคุ้มครองประโยชน์ของลูกจ้าง โดยให้ได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติมเป็นพิเศษจากปกติ แต่ความ คุ้มครองนั้น เป็นไปในลักษณะบัญชีของบุคคลไม่ใช่บัญชีของนิติบุคคล เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เป็นต้น นายสิงหะเปิดเผยอีกว่า เมื่อพิจารณาแนวปฏิบัติในการกำหนดประเภทผู้ฝากเงินที่จะให้หรือไม่ให้ความคุ้มครองของหน่วยงานประกันเงินฝากในต่างประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย พบว่าประเทศไทยได้ใช้แนวทางเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ที่ทำการศึกษา คือให้ความคุ้มครองทั้งเงินฝากของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลประเภทต่างๆ แต่วงเงินคุ้มครองจะเท่ากับผู้ฝากเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา ทั้งนี้ การกำหนดให้ผู้ฝากเงินที่เป็นนิติบุคคลอยู่ในข่ายได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา มีข้อดีคือ นอกจากจะให้ผลทางจิตวิทยาในการช่วยลดอาการตื่นตระหนกของผู้ฝากกลุ่มดังกล่าว และส่งเสริมความเชื่อมั่นในระบบการเงินแล้ว ยังช่วยลดความยุ่งยากเกี่ยวกับการกำหนดฐานเงินฝากที่จะใช้ในการคำนวณเงินนำส่ง และการจัดทำระบบข้อมูลเพื่อการจ่ายคืนเงินฝากอีกด้วย การคุ้มครองเงินฝากแต่ละกลุ่มไม่ว่าจะมีเงินฝากมากน้อยเพียงใดนั้น ไม่ถือเป็นการทำให้เสียวินัยทางการเงินอันนำไปสู่ปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) แต่อย่างใด เพราะการจำกัดวงเงินจ่ายคืน ทำให้ผู้ฝากเงินที่มีเงินมากกว่าจำนวนวงเงินคุ้มครอง ยังต้องมีความระมัดระวังในการนำเงินไปฝากในสถาบันการเงิน นายสิงหะกล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการของผู้ฝากเงินที่สมควรจะได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริงนั้น จากการศึกษาสามารถสรุปได้ ก็คือ “ผู้ฝากรายย่อย” ที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินฝากและอาจไม่มีความรู้หรือเข้าถึงแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงิน นอกจากนี้ การศึกษาพบว่าผู้ฝากเงินที่เป็นหน่วยงาน สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีลักษณะเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการออมและการลงทุน จึงพออนุมานได้ว่าเป็นผู้ฝากเงินที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารได้ในระดับหนึ่ง (Sophisticated Depositors) เงินฝากของผู้ฝากประเภทนี้จึงได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับผู้ฝากเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา สำหรับผู้สนใจความเคลื่อนไหวต่างๆ หรือศึกษารายละเอียดข้อมูลของสถาบันคุ้มครอง เงินฝาก สามารถติดตามได้ทาง www.dpa.or.th หรือ 02-272-0400

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ