กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--สสวท.
วันนี้เราจะพาไปเที่ยวงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2555 ระหว่างวันที่ 17 — 31 สิงหาคม 2555 เวลา 9.00 น. — 20.00 น. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ในงานนี้มีองค์ความรู้ที่น่าสนใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือนิทรรศการ “สสวท. ผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์” ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นั่นเอง ภายในงานแบ่งเป็นโซนแห่งความสนุกต่างๆ ถึง 20 โซนด้วยกัน ได้แก่ สนามเด็กเล่น ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ กลเกมคณิตศาสตร์ โรงหนังหรรษา ธาราพาเพลิน ส่องกล้องหาคู่ ท่องโลกธรณีและมหาสมุทร เครื่องร่อนเจ้าเวหา Hands-on Station I, II หอนาฬิกาเจ้าปัญหา กระสวยอวกาศ ลานประลองเกมดิจิทัล IPST Learning Space IPST Bookstore กำแพงอัจฉริยะ เวทีกิจกรรม มหาขุมทรัพย์ล้ำค่า
และที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ “ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์” ของ สสวท. ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการทดลองต่างๆ ได้ฟรีวันละ 5 รอบ รอบละ 1 ชั่วโมง เวลา 9.30 น. 11.00 น. 13.00 น. 14.30 น. และ 17.00 น.
กิจกรรมที่ สสวท. เตรียมไว้สำหรับห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์นั้น มีให้เลือกหลากหลาย แต่ละวันก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เช่น วิทยาศาสตร์ช่วยสืบ การประดิษฐ์หุ่นยนต์กระป๋อง ตามหาบรรพบุรุษ การประดิษฐ์แผนที่ดาว การผลิตกล้องรูเข็ม เรียนรู้และสร้างมอเตอร์อย่างง่าย เรียนรู้และสร้างแบตเตอรี่จากผลไม้ แกะรอยคาร์บอน การประดิษฐ์คู่มือวิเคราะห์คุณภาพน้ำ การประดิษฐ์โมเดลไวรัสอย่างง่าย การถ่ายทอดทางพันธุกรรม แข่งขันทำแบบทดสอบการคาดคะเนมุม แข่งขันทำแบบทดสอบการคูณ-หารทศนิยม ฯลฯ
หนึ่งชั่วโมงสำหรับกิจกรรมนี้ พี่ๆ ทีมงานจาก สสวท. ต่างก็จัดเต็มให้น้องๆ ได้เรียนรู้เต็มที่ ส่วนน้องๆ ก็สนุกและให้ความสนใจ และมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกันทุกคน
....น่าสนุกใช่ไหมล่ะ จะสนุกหรือไม่อย่างไรนั้น ลองไปดูเพื่อนๆ น้องๆ วัยเรียน วัยซนที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมนี้กันดีกว่า
ปฏิบัติการ “นักสืบฟอสซิล”
เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการเกิดซากดึกดำบรรพ์และการใช้ประโยชน์จากซากดึกดำบรรพ์ ผ่านกิจกรรม Hands on ประกอบด้วย กิจกรรมการเกิดฟอสซิล จิ๊กซอว์ทวีป และตารางธรณีกาล ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดช่วยให้นักเรียนมีความรู้และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ นักเรียนสามารถสังเกตและอธิบายหลักการเบื้องต้นของการเกิดซากดึกดำบรรพ์ ตั้งสมมติฐานและอธิบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของแผ่นทวีปจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของพื้นที่ในอดีตรวมทั้งประมาณอายุของพื้นที่ที่สมมติขึ้นจากการค้นพบซากดึกดำบรรพ์
เด็กหญิงวิภาดา นิ่มฟัก เด็กหญิงอาจารีย์ แสนธนาพิพัชร์ เด็กหญิงเขมภัสสร์ คนเจน และเด็กชายกัญจน์ เผ่าดี ชั้น ป. 6 โรงเรียนสรรพวุธวิทยา กรุงเทพมหานคร น้องๆ กลุ่มนี้บอกกับเราว่า เป็นครั้งแรกและวันแรกที่ได้มาร่วมมหกรรมวิทยาศาสตร์ ฯ สาเหตุที่เลือกเข้าร่วมปฏิบัติการ “นักสืบฟอสซิล” เพราะว่าอยากรู้เรื่องไดโนเสาร์ อยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ และก็ไม่ผิดหวังเลย สนุกมาก ได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ได้รู้ว่าไดโนเสาร์ชนิดใดอยู่ยุคไหนบ้าง ยังไม่เคยเรียนแบบนี้มาก่อนเลยสนุกมาก....ชอบ
ปฏิบัติการ “Microscope in Love”
สาเหตุที่ตั้งชื่อกิจกรรมไว้อย่างนั้น เพราะพี่ๆ ทีมงานได้เตรียมสไลด์ที่มีรูปหัวใจสีหวาน ๆ ไว้ให้น้อง ๆ สังเกตดูก่อนการใช้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อทราบว่าภาพที่มองเห็นผ่านกล้องจุลทรรศน์จะกลับจากซ้ายเป็นขวาและบนลงล่าง เด็กๆ รู้จักกล้องจุลทรรศน์ ทดลองเตรียมสไลด์เพื่อศึกษาลักษณะของใบพืช และได้เห็นความมหัศจรรย์ของกล้องจุลทรรศน์ซึ่งสามารถช่วยให้เราได้เห็นภาพที่ตาเปล่าไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งน้อง ๆ จะหลงรักมัน
เด็กชายชา คำสร้อย และเด็กชายรัตน์ธพล เหมือนอ่อน ชั้น ป. 1 โรงเรียนบ้านบางประแดง จังหวัดนครปฐม ถึงจะเล็กกว่าพี่ๆ เพื่อน ๆ ร่วมห้องปฏิบัติการด้วยกัน แต่พวกเขาตั้งใจ และสามารถทำกิจกรรมตามที่พี่ๆ วิทยากรแนะนำได้ครบถ้วนเลย
“ผมและเพื่อน ๆ ได้ทำสไลด์จากว่านกาบหอย ก็ยากเหมือนกัน เพราะต้องระวังตอนที่ตัดชิ้นเนื้อเยื่อ และติดกระจกสไลด์ ได้ส่องมองเนื้อเยื่อผ่านกล้องจุลทรรศน์ด้วย สนุกครับ ไม่เคยทำมาก่อน
เด็กชายณัฐวุฒิ ฤทธิสน และเด็กชายชนะชัย ศรีผลสมอ ชั้น ป. 5 โรงเรียนเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา บอกว่า ยังไม่เคยทำปฏิบัติการแบบนี้ ยังไม่เคยใช้กล้องจุลทรรศน์ ได้มาเรียนรู้แล้วก็เลยตั้งใจศึกษาเต็มที่ ทำสไลด์ไม่ยากเลย เวลาที่เรามองแผ่นสไลด์ด้วยตาเปล่าเรามองไม่เห็นรายละเอียด แต่พอไปส่องกล้องจุลทรรศน์ดูจะเห็นภาพกลับหัวกลับหาง
เด็กชายณฐนน มะโนมั่น ชั้น ม.1 โรงเรียนปรีชานุศาสตร์ชลบุรี จังหวัดชลบุรี หนุ่มน้อยคนนี้ก็เป็นอีกคนที่ตั้งใจเข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ เพราะมีความสนใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
“ในชั้นเรียน ม. 1 เคยเตรียมสไลด์และใช้กล้องจุลทรรศน์มาบ้างแล้ว รู้สึกว่ายากตอนที่ตัดเนื้อเยื่อพืชเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้องระวังไม่ให้บาดมือ วิทยาศาสตร์มีความน่าสนใจ มีความแปลกประหลาดที่ให้เราได้พบเห็น อย่างเช่น การเข้าร่วมกิจกรรมนี้เป็นความน่าตื่นเต้นที่ได้มองผ่านกล้องจุลทรรศน์แล้วมองเห็นเซลล์พืชที่เราไม่เคยได้เห็นมาก่อน เพราะเรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น”
ผู้สนใจทุกท่านสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 0-2392-4021 ต่อ 2103, 2104 และ 2112 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th