กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--สสวท.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดการประกวดภาพถ่ายด้วยกล้องดิจิทัลครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “น้ำกับชีวิต” ประจำปีพุทธศักราช 2555 ผลปรากฎ ดังนี้
ประเภทประชาชนทั่วไป ภาพชนะเลิศชื่อภาพบางวิกฤต อาจมีบางโอกาส โดยนายจามิกร ศรีคำ ภาพรางวัลที่ 2 ชื่อภาพไม่ทิ้งกัน โดยนายเฉลิม อัชชมานะ ภาพรางวัลที่ 3 ชื่อภาพน้ำกับการอยู่อาศัยโดยนายทวีศักดิ์ ยุทธรักษา ภาพรางวัลชมเชย ชื่อภาพบ่อน้ำใส โยงใยชีวิต โดยนายชูศักดิ์ อุทัยภาณุมาศ ภาพน้ำเพื่อชีวิต 1 โดยนางสาวอรอนงค์ กุลจรัสธร ภาพคู่รัก โดยนายวิหาร ขวัญดี ภาพโปรยปราย โดยนายพลฤทธิ์ ฐิติวริทธินันท์
ประเภทนิสิตนักศึกษา ภาพชนะเลิศชื่อภาพน้ำช่วยชีวิต โดยนายเบญจพล ศุภพร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ภาพรางวัลที่ 2 ชื่อภาพกลางเวหา โดยนายธนวิช คำโสภา โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา ภาพรางวัลที่ 3 ชื่อภาพฉ่ำใจ โดยนายศุภณัฐ เลาหลียานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ภาพรางวัลชมเชย ชื่อภาพน้ำเพื่อชีวิต โดยนายชนาธิป ไชยเหล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาพรางวัลชมเชย ชื่อภาพหล่อเลี้ยงพระศาสนา โดยนางสาวบุญชนก ฉายชูวงศ์ โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ (เมืองทองธานี) ภาพการรอคอยที่เงียบสงบ โดยนางสาวสิรินันท์ กองลุน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ภาพน้ำเลี้ยงชีวิต โดยนางสาวขวัญนภา ภูผัน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
เมื่อเร็วๆ นี้ สสวท. ได้จัดพิธีมอบรางวัลประกวดภาพถ่ายด้วยระบบดิจิทัล ในหัวข้อ“น้ำกับชีวิต ณ ห้องมหกรรมฯ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง เอกมัย) กรุงเทพมหานคร เราจึงได้พูดคุยกับเยาวชนคนเก่งเจ้าของผลงานเหล่านี้กัน
นายเบญจพล ศุภพร (โจ) ชั้นปีที่ 5 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลประเภทนิสิตนักศึกษา เจ้าของภาพชนะเลิศชื่อภาพ “น้ำช่วยชีวิต” ผู้ซึ่งเคยคว้ารางวัลด้านการถ่ายภาพมาแล้วหลายเวที เล่าว่าเริ่มถ่ายภาพตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม. 6 แรงบันดาลใจเกิดจากความชื่นชอบในศิลปะการถ่ายภาพ พร้อมทั้งได้รับแรงบันดาลใจจากแพทย์นักถ่ายภาพท่านหนึ่ง ตานเองนั้นชอบถ่ายภาพแนว Landscape, Cityscape, Life และคิดว่าเทคนิคนั้นไม่สำคัญเท่าความคิดสร้างสรรค์ หมั่นศึกษาด้วยตนเองตลอด ดูภาพมาก ๆ เข้าร่วมเป็นมาชิกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย
ภาพน้ำช่วยชีวิต สื่อความหมายถึงศัลยแพทย์กำลังผ่าตัดช่วยชีวิตผู้ป่วย มีน้ำเป็นส่วนช่วยในการผ่าตัด ซึ่งจะขาดไม่ได้เลย ซึ่งหมายถึง “น้ำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นทางการแพทย์”
“การถ่ายภาพนั้นมีประโยชน์หลายด้านทั้งการงาน การเรียนและชีวิตประจำวัน กล่าวคือ งานด้านการแพทย์จำเป็นต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งการถ่ายภาพเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ผมชื่นชอบมากเป็นพิเศษ ผมได้ส่งภาพเข้าประกวดหลายเวทีและเคยได้รับรางวัลมาหลายรายการ นอกจากรางวัลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ได้แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ โอกาสในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น รู้จักกับคนสำคัญ ๆ มากขึ้น เป็น Portfolio ของตนเอง เป็นการสร้างชื่อเสียงแก่สถานศึกษา และเป็นการสร้างโอกาสดีๆ หลายอย่างในชีวิตครับ”
นายธนวิช คำโสภา (ซี) ชั้น ม. 6/5 โรงเรียนสาธิต “ พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา รางวัลประเภทนิสิตนักศึกษา เจ้าของภาพรางวัลที่ 2 ชื่อภาพ “กลางเวหา” เริ่มถ่ายภาพตั้งแต่อายุ 11 ปี ส่งภาพเข้าประกวดเป็นประจำทุกปี เพื่อฝึกฝนฝีมือ โดยน้องซีนั้น ก็เป็นเยาวชนอีกคนที่รักการถ่ายภาพมาก เพราะได้ท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ ได้เห็นผู้คนและสถานที่ต่าง ๆ ชอบถ่ายภาพธรรมชาติ วิธีการฝึกฝนคือศึกษาเรียนรู้จากการดูภาพถ่ายให้มาก และออกไปถ่ายภาพบ่อย ๆ
จากรางวัลและฝีมือในการถ่ายภาพนั่นเอง ทำให้น้องซีได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาศิลปวัฒนธรรม ปี พ.ศ. 2554 มาด้วย สำหรับภาพที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เป็นภาพถ่ายจากเครื่องบิน เห็นแม่น้ำและโรงงาน สื่อความหมายว่าแม้แต่โรงงานใหญ่ๆ ก็ต้องพึ่งพาใช้น้ำในการขับเคลื่อน
นายศุภณัฐ เลาหลียานุรักษ์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ รางวัลประเภทนิสิตนักศึกษาเจ้าของภาพรางวัลที่ 3 ชื่อ “ภาพฉ่ำใจ” เป็นภาพต้นไม้ที่ถูกรดน้ำเปรียบเทียบกับต้นไม้ที่ปล่อยให้แห้งตาย ต้องการสื่อว่าหากเราดูแลอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น เริ่มถ่ายภาพตั้งแต่ตอนที่เรียน ปี 1 สนใจส่งภาพเข้าประกวดเพราะคิดว่าการประกวดจะช่วยกระตุ้นให้เราอยากถ่ายภาพมากขึ้นและท้าทาย อยากลองดูว่าจะเป็นอย่างไร
“การถ่ายภาพทำให้เราได้ประสบการณ์ด้านการสื่อความหมาย บอกประวัติศาสตร์ เรียนรู้เทคนิคจากภาพ ผมอยากฝึกถ่ายภาพเพื่อสื่อความหมาย อยากเก็บความรู้สึกในแต่ละช่วงเวลา ชอบถ่ายภาพแนวสารคดี แนวอาร์ต และชอบแนวอื่น ๆ หลายแนวมากครับ ไม่ปิดกั้น ถ่ายให้มันจริงที่สุด เพราะภาพจะสื่อความจากตัวมันเอง ฝึกด้วยการถ่ายภาพเยอะ ๆ ไม่กลัวผิดถูก และอ่านหนังสือ ดูภาพเยอะ ๆ คุยกับคนเก่งๆ ที่มีประสบการณ์ด้านการถ่ายภาพ”
ทั้งนี้ นิทรรศการถาพถ่ายในโครงการดังกล่าวได้จัดแสดงให้ผู้สนใจเข้าชมที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง เอกมัย) ตลอดทั้งปี