คปก.หนุนออกกฎหมายสิทธิชุมชน แก้ปัญหาขัดแย้ง แนะใช้หลักประโยชน์สาธารณะ — ระบุประเภทสิทธิชุมชนให้ชัด

ข่าวทั่วไป Tuesday August 28, 2012 16:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชนพ.ศ....ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า ควรให้ความสำคัญกับพ.ร.บ. สิทธิชุมชน เพราะแท้จริงสิทธิชุมชนเกิดก่อนรัฐไทย ชุมชนเกิดขึ้นก่อนรัฐ แต่ภายหลังเกิดการรวบอำนาจโดยรัฐ หากพิจารณาในรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้รับรองสิ่งที่มีอยู่เดิมแล้วหายไป รวมถึงที่รัฐริบไป และจะเห็นว่าหลังจากปี2540 มีการขับเคลื่อนการใช้สิทธิชุมชนเพิ่มมากขึ้นและภาคประชาชนมีความพยายามผลักดันกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีล่าสุดอย่างประเด็นปัญหาโฉนดชุมชน รวมถึงเรื่องเขตวัฒนาธรรมพิเศษของชาติพันธ์ เพื่อรับรองสิทธิชุมชน แต่พบว่ารัฐยังเพิกเฉย ละเลย ไม่ให้ความสนใจ แม้จะมีการรับรองในรัฐธรรมนูญปี 2540และรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่ต้องไปออกกฎหมายลูก ในขณะที่หน่วยงานรัฐส่วนหนึ่งมีการอ้างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ,พ.ร.บ.ป่าไม้ พยายามจะทำให้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ศาลก็มีแนวโน้มรับรองความชอบธรรมดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องออกกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง “ผู้ที่พัฒนาสิทธิชุมชนให้เป็นรูปธรรมคือประชาชน รวมทั้งสิทธิการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ถูกพัฒนาโดยกระบวนการประชาชนตลอด 15 ปีที่ผ่านมา คปก.เห็นว่าหากยังมีความขัดแย้งอยู่อย่างนี้ แม้รัฐธรรมนูญจะให้ความสำคัญกับสิทธิ แต่คปก.เห็นว่าควรทำกฎหมายนี้เป็นหลักการพื้นฐานเพื่อผูกพันหน่วยงานรัฐ เพราะมีกรณีที่หลายคนต้องติดคุก ต้องเสียชีวิตเพื่อให้ได้สิทธิชุมชน” นายไพโรจน์ กล่าวว่า การจัดหลักการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชุมชน โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนา ยังมีข้อถกเถียงว่าชุมชนและรัฐควรมีขอบเขตมากน้อยแค่ไหนเนื่องจากเกี่ยวข้องกับฐานทรัพยากร ดังนั้นจะไม่มีหมู่บ้านเป็นตัวตั้งแต่ขึ้นอยู่กับฐานทรัพยากรเป็นสำคัญ โดยมีวัฒนธรรม ความเชื่อที่สัมพันธ์กัน หรือเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ต้องมีกติกาบางอย่างร่วมกัน ประเด็นต่อมาคือ สิทธิชุมชนซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้ง ก็ต้องตัดสินกันที่ว่าใครคือผู้รักษาฐานทรัพยากรเหล่านั้น หากต่างคนต่างอ้างสิทธิการเป็นชุมชน แล้วใครจะเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ได้จริง คงต้องมีกลไกบางอย่างมาตัดสิน ทั้งนี้ประเด็นต่างๆที่ภาคประชาชนและหน่วยงานต่างๆตั้งข้อสังเกตไว้คปก.จะรวบรวมข้อมูลประกอบการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า มีข้อสังเกตว่า 1.แม้รัฐธรรมนูญ 2550 จะบัญญัติไว้ในมาตรา 66, 67 อยู่แล้ว แต่ไม่มีกฎหมายกำหนดในรายละเอียดว่า อะไรคือสิทธิชุมชน การบังคับใช้ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยที่ยังไม่มีกฎหมายกำหนดในรายละเอียดก็อาจจะต้องคำนึงประเด็นนี้ด้วย 2.หากพิจารณารัฐธรรมนูญ ในมาตรา 303 การกำหนดการตรากฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ระยะเวลาที่ผ่านไป 5 ปีแล้วรัฐบาลไม่สนใจ ไม่ใยดีและไม่มีการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ภาคประชาชนคงต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรม 3.กฎหมายระดับพระราชบัญญัติไม่สามารถเขียนให้แคบกว่ารัฐธรรมนูญได้ ขอบเขตตามรัฐธรรมนูญจึงต้องเป็นหลักสำคัญ อย่างไรก็ตามความมุ่งหมายของกฎหมายฉบับนี้ต้องการให้ระบบกฎเกณฑ์มีความหลากหลาย ไม่เฉพาะจากรัฐเท่านั้นที่นำไปสู่การบังคับใช้ กฎกติกาของชาวบ้านที่ร่างร่วมกันหากไม่ขัดต่อหลักการก็ควรที่จะบังคับใช้ได้เช่นกัน นายศักดิ์ณรงค์ มงคล เลขานุการกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวนำเสนอหลักการเบื้องต้นของร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชุนว่า หลักการที่ควรปรากฏในร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชนฯ แบ่งเป็น 6 เรื่องได้แก่1.ความหมายและประเภทของชุมชน โดยนิยามความหมายของชุมชนจากลักษณะพื้นฐานอันได้แก่ ต้องมีกลุ่มคนอาศัยร่วมกัน โดยดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างเป็นปกติ และต้องมีกฎเกณฑ์ที่ยอมรับและใช้ร่วมกัน ส่วนประเภทของชุมชนกำหนด 3 ประเภท คือ ชุมชนซึ่งรวมถึงชุมชนเกิดใหม่ เช่น หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียมด้วย ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม 2.ประเภทของสิทธิชุมชน การเขียนกฎหมายในประเด็นนี้ควรระบุรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการตีความของศาลหากมีกรณีเกิดขึ้น โดยการร่างก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 และสิทธิเกี่ยวเนื่องตามความสัมพันธ์ทางธรรมชาติระหว่างชุมชนกับทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม “3.ผู้ทรงสิทธิชุมชน ควรประกอบด้วยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลและชุมชนทุกประเภทตามประเภทของชุมชนที่ระบุข้างต้น4.การใช้สิทธิชุมชน สิ่งสำคัญได้แก่ การใช้สิทธิชุมชนนั้น ต้องมีฐานแห่งสิทธิรองรับให้นำไปใช้ เช่น จารีตประเพณี หรือ ฐานความสัมพันธ์ทางธรรมชาติระหว่างบุคคลและความหลากหลายทางชีวภาพด้วย ส่วนการลำดับความสำคัญสิทธิในกรณีที่มีความขัดแย้งกันระหว่างประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์สิทธิชุมชนและ/หรือประโยชน์หรือสิทธิส่วนบุคคล ให้พิจารณาโดยคำนึงหลักประโยชน์สาธารณะ แต่หากการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำรงอยู่ของชุมชนก็ให้คำนึงถึงสิทธิชุมชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ให้ยึดหลักพอสมควรแก่เหตุตามหลักกฎหมายมหาชนมาพิจารณาประกอบ” นายศักดิ์ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับกลไกพิเศษเพื่อการร่วมจัดการ บำรุงรักษา ใช้ หรือได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ จากแนวคิดกฎหมายทั้ง 5 ฉบับมีความหลากหลาย แต่ที่เห็นว่ามีความสำคัญ คือ การทำแผนร่วมกันในสังคม เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมซึ่งคำนึงถึงบทบาทของชุมชน ส่วนกรณีกลไกการระงับข้อพิพาท ให้คำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละภูมิประเภทเป็นสำคัญ จึงควรเปิดพื้นที่การวางหลักการเรื่องนี้ไว้สำหรับการแลกเปลี่ยนและการรับฟังความคิดเห็นในเวทีที่จัดขึ้นทั่วประเทศ ผู้แทนภาคประชาชน ให้ความเห็นว่า ปัญหาปัจจุบันเกี่ยวกับสิทธิชุมชนมักจะถูกรุกไล่จากรัฐ บ่อยครั้งเกิดการเผชิญหน้าโดยเฉพาะกรณีความขัดแย้งในเทือกเขาบรรทัด ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่า สิทธิชุมชนอยู่ตรงไหน ทำอย่างไรให้มีการบังคับใช้กฎหมายสิทธิชุมชน และประชาชนมีสิทธิจริงหรือไม่ นอกจากนี้ภาคประชาชนยังมีความเห็นว่า ประเด็นที่ยังไม่ชัดขณะนี้คือเรื่องพื้นที่ เพราะในความหมายของรัฐมีหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณะที่ป่า อาจจะถูกทำให้นิยามว่าเป็นพื้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคิดว่าตรงนี้เป็นข้อกังวลของชาวบ้าน และคิดว่าประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือการเข้ามาจัดการอะไรบ้างอย่างเช่น การจัดการทรัพยากร แต่การที่กลุ่มทุนเข้ามาดำเนินการในเชิงธุรกิจไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องระหว่างชุมชนกับรัฐ ติดต่อ: สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ