ฟิทช์เชื่อว่ามาตรการที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทยจะส่งผลดีต่อระบบธนาคารไทย และประกาศคงอันดับเครดิตธนาคารกรุงไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday August 11, 2004 13:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
ฟิทช์ บริษัทจัดอันดับเครดิตข้ามชาติ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลของธนาคารกรุงไทย (KTB) ระยะยาวที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ) ระยะสั้นที่ ‘F3’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ KTB ที่ ‘BB+’ แม้ว่ามีการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB อย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสที่สองของปี 2547 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการในการใช้เกณฑ์การจัดชั้นหนี้ที่เข้มงวดมากขึ้น ในขณะ เดียวกัน ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National rating) ของ KTB ระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ ระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’(AA ลบ(tha)) แนวโน้มมีเสถียรภาพ
จากการที่ผลของเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ใหม่ทำให้ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB มีการเพิ่มสูงขึ้นมากนั้น เป็นการแสดงถึงประเด็นของฟิทช์ที่มีต่อการเปิดเผยข้อมูลและความอ่อนแอของคุณภาพสินทรัพย์ของ KTB อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตของ KTB เนื่องจากผลกระทบ ณ ปัจจุบัน ต่อความสามารถในการทำกำไรและเงินกองทุนของธนาคารยังไม่มีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่ทางธนาคารอาจจะต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นบ้าง นอกจากนั้น อันดับเครดิตระยะยาวของ KTB ยังสะท้อนถึงการที่ธนาคารมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
อย่างไรก็ตาม หากมีการถดถอยอย่างต่อเนื่องของคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงในการที่ธนาคารจะต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติม รวมถึงความเสี่ยงต่อความสามารถในการทำกำไรและเงินกองทุนของธนาคาร ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB ซึ่งอันดับเครดิตนี้ไม่ได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ฟิทช์มองว่าเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ KTB ปรับปรุงเกณฑ์การจัดสินเชื่อใหม่ เป็นการพัฒนาภาคธุรกิจธนาคารไทย โดยเฉพาะถ้าพิจารณาถึงความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มมากขึ้นจากการที่ธนาคารของรัฐใช้นโยบายการปล่อยสินเชื่อในเชิงรุกใน 3 ปีที่ผ่านมา
หลังจากปรับตัวเลขสินเชื่อของ KTB โดยไม่รวมตั๋วสัญญาใช้เงินจากรัฐบาล หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 16% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 จากระดับประมาณ 11% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2547 หรือเพิ่มขึ้น 45 พันล้านบาท (หรือ 1.1 พันล้านดอลล่าร์) สู่ระดับ 125.7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 ประมาณครึ่งหนึ่งของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นหนี้ที่ได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นสินเชื่อที่ปล่อยให้กับภาคธุรกิจทั่วไป ในขณะที่การจัดชั้นสินเชื่อใหม่ไม่มีผลกระทบในทันทีต่อความสามารถในการทำกำไรของ KTB เนื่องจากเงินสำรองทั่วไปจำนวนประมาณ 7 พันล้านบาทได้ถูกโอนไปเป็นเงินสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ระดับการกันสำรองหนี้สูญได้ลดลงมาเหลือเพียงประมาณ 50% จาก 72% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2547 ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำและชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ทางธนาคารอาจต้องมีการกันสำรองเพิ่มเติม การเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากการจัดชั้นสินเชื่อใหม่ ยืนยันถึงประเด็นของฟิทช์ต่อวิธีการการประเมินคุณภาพสินทรัพย์ของ KTB โดยเฉพาะในภาวะที่ธนาคารมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่สูงและมีหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการกันสำรองได้ในอนาคต
ในขณะที่การจัดชั้นสินเชื่อใหม่ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของภาคธุรกิจธนาคารมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่ม ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อาจเพิ่มขึ้นของธนาคารอื่นมีแนวโน้มที่จะไม่สูงเท่าของ KTB ผลกระทบของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อาจเพิ่มขึ้นต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารไทยไม่น่าจะมีนัยสำคัญ เนื่องจากระดับการกันสำรองหนี้สูญของธนาคารส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 70-80% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างเพียงพอ ดังนั้นการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการในใช้เกณฑ์การจัดชั้นหนี้ที่เข้มงวดมากขึ้นน่าจะถูกมองเป็นการช่วยพัฒนาการจัดการความเสี่ยงและการเปิดเผยข้อมูลของภาคธุรกิจธนาคาร มากกว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์
ถึงแม้ว่าผลการดำเนินงานหลักของ KTB ได้ปรับตัวดีขึ้นในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ในระดับที่แข่งขันได้และในด้านการปรับโครงสร้างองค์กร ในขณะที่การแปรรูปธนาคารบางส่วนได้ลดระดับการถือหุ้นโดยรัฐบาล แต่ทางรัฐบาลยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้ KTB ยังคงต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลซึ่งรวมถึงการเป็นธนาคารผู้นำในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจโดยปล่อยสินเชื่อในระบบมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร
ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2547 ของ KTB แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นระดับผลกำไร โดยผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 6.8 พันล้านบาท จาก 1.6 พันล้านบาท ในครึ่งปีแรกของปี 2546 เนื่องมาจากต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง รวมถึงกำไรพิเศษจากเงินปันผลของกองทุนวายุภักษ์และกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของสินเชื่อของ KTB ที่ 30 % ในปี 2545 และ 2546 และประมาณ 20% ในครึ่งแรกของปี 2547 (หลังจากปรับตัวเลขให้สะท้อนถึงอัตราการเติบโตทั้งปีแล้ว) ได้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงในการที่คุณภาพของสินทรัพย์อาจถดถอยลงและการสำรองหนี้สูญที่เพิ่มเติม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธนาคารในอนาคต
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า ‘AAA’ ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ส่วนอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Ratings) วิเคราะห์ถึงสถานะทางการเงินของธนาคารเมื่อไม่มีปัจจัยช่วยเหลือภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Ratings) วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการที่ทางธนาคารจะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหรือจากรัฐบาล ถ้าทางธนาคารประสบปัญหา อันดับเครดิตนี้ไม่ใช่อันดับเครดิตของหนี้แต่เป็นอันดับของความแข็งแกร่งของสถานะการเงินของธนาคารและระดับการสนับสนุนจากภายนอกซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีให้ทางธนาคารก็ได้
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton,
กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall,
ฮ่องกง +852 2263 9963--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ