กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย
เราทุกคนรู้จักทองคำว่าเป็นโลหะสูงค่า มีสีเหลืองสุกปลั่ง สามารถนำมาทำเป็นเครื่องประดับแสนสวย และคงอยากมีไว้ครอบครอง วันนี้จึงได้มีโอกาสขอความรู้จาก คุณเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ นักธรณีวิทยา ที่จริงทองคำนั้นเป็นโลหะชนิดแรกที่มนุษย์รู้จักกันมาตั้งแต่โบราณกาล จะว่าไปก็ตั้งแต่ในยุคสมัยของมนุษย์โบราณรุ่นแรก ๆ (hominids) ด้วยซ้ำ จากนั้น ก็มีการใช้ประโยชน์กันในสมัยอียิปต์และกรีกเรื่อยมาจนปัจจุบัน สำหรับเมืองไทยของเรานั้น หลายคนคงรู้มาบ้าง แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า เราก็มีทองคำกับเค้าด้วย และมีมากจนถึงขั้นที่สามารถทำเหมืองแร่ทองคำในเชิงอุตสาหกรรมมานับสิบ ๆ ปีแล้วด้วยซ้ำ
อันที่จริงแล้ว เรามีแหล่งแร่ทองคำกระจายอยู่กว้างขวางในหลายพื้นที่ของประเทศ จะยกเว้นก็เพียงพื้นที่ที่เป็นที่ราบสูงของภาคอีสานเท่านั้น เราพบทองคำกระจายอยู่เป็นโซนตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย แพร่ และแถว ๆ พิษณุโลก พิจิตร ลพบุรี สระบุรี ต่อไปจนเข้าเขตปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และระยอง ส่วนทางภาคกลางก็พบที่กาญจนบุรีและตามแนวเทือกเขาฝั่งตะวันตกไปจนถึงประจวบคีรีขันธ์ สำหรับทางใต้สุดได้แก่นราธิวาส และจะว่าไปเมืองไทยเราก็มีชื่อทางภูมิศาสตร์ที่บ่งชัดว่ามีทองอยู่หลายแห่ง ตั้งแต่ระดับภูมิภาคเช่น สุวรรณภูมิ หรือในระดับจังหวัดเช่น กาญจนบุรี หรือระดับเล็กลงมาอีกเช่น ตำบลร่อนทอง ประจวบคีรีขันธ์ และบ้านบ่อทอง ซึ่งมีทั้งที่อำเภอพนัสนิคม ชลบุรี และที่อำเภอกบินทร์บุรี ปราจีนบุรี เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้ว เราก็เคยทำเหมืองทองมาตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีเอกสารอ้างอิงจากกรมทรัพยากรธรณีว่า ในปี พ.ศ. 2283 ไทยส่งทองที่ได้จากแหล่งบ้านป่าร่อน อำเภอบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ ไปฝรั่งเศสเป็นจำนวนถึง 46 หีบ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2479-2483 รัฐบาลได้ให้สัมปทานบริษัทฝรั่งเศสทำเหมืองทองคำที่แหล่งโต๊ะโม๊ะ อำเภอสุคิริน นราธิวาส ผลิตทองได้ถึง 1,851 กิโลกรัม และไม่นานมานี้ในช่วงปี พ.ศ. 2533-2539 บริษัทชลสินเปิดทำเหมืองจากแหล่งนี้เช่นกัน และผลิตทองได้ประมาณ 230 กิโลกรัม
ทองคำในเมืองไทยส่วนมากมีกำเนิดที่เกี่ยวข้องกับหินอัคนี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หินภูเขาไฟ และกระบวนการของน้ำแร่ร้อนภายใต้โลก (hydrothermal solution) ที่เกิดร่วม ซึ่งแต่ละแหล่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่การจำแนกการเกิดของทองคำที่ทำความเข้าใจได้ง่ายคือ การแบ่งเป็นทองคำแบบปฐมภูมิ (primary deposits) ซึ่งเกร็ดแร่ทองคำขนาดเล็กจะฝังประอยู่ในหินแข็ง และส่วนมากมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อีกแบบหนึ่งเป็นทองคำแบบทุติยภูมิ (secondary deposits) ซึ่งทองคำจากแบบแรกจะผุพังจากหินเดิม และถูกพัดพาไปสะสมตัวในที่ลุ่มต่ำ ที่ราบเชิงเขา หรือในลำห้วย ทองคำแบบนี้จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และเป็นทองคำแบบที่มักมีข่าวว่าชาวบ้านพบเจอ แล้วไปขุดร่อนจนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำอยู่บ่อย ๆ เช่น กรณีของเขาพนมพา อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร และล่าสุดได้แก่ ที่แม่น้ำวัง ในเขตอำเภอวังเหนือ ลำปาง
การทำเหมืองแร่ทองคำในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมนั้น จะทำกับแหล่งทองคำแบบปฐมภูมิ อยู่ในหินแข็ง มีกระบวนการทำเหมืองที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งมีการใช้เครื่องมือเครื่องจักรขนาดใหญ่ ใช้สารเคมีและอุปกรณ์สำหรับการแยกแร่จำนวนมาก ซึ่งการทำเหมืองแร่ทองคำแบบนี้ในเมืองไทยปัจจุบันมีอยู่ 2 แห่ง คือ เหมืองแร่ทองคำชาตรี ของบริษัท อัคราไมนิ่ง ตั้งอยู่บริเวณเขตติดต่ออำเภอทับคล้อ พิจิตร กับอำเภอวังโป่ง เพชรบูรณ์ ซึ่งมีแร่ทองคำเกิดร่วมกับเงิน และเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า อำเภอวังสะพุง เลย ของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด มีแร่ทองคำเกิดร่วมกับทองแดง
การทำเหมืองแร่ทองคำทั้งสองแห่ง เริ่มต้นจากการเปิดหน้าเหมืองในลักษณะเป็นขั้นบันไดโดยการระเบิดสินแร่ออกมา จากนั้นนำสินแร่ไปบดหยาบ บดละเอียด และส่งผ่านต่อไปยังกระบวนการละลายแร่โดยใช้สารละลายไซยาไนด์ ซึ่งจะละลายเอาทองคำออกมาอยู่ในรูปสารละลาย แล้วนำไปแยกโลหะทองคำออกด้วยเซลไฟฟ้า ซึ่งแร่ทองคำอนุภาคเล็ก ๆ จะไปจับอยู่ที่ขั้วประจุลบ ในขั้นตอนสุดท้าย จะต้องเอาผงทองคำไปหลอมเป็นแท่ง เรียกกันว่า “โดเร่ (dore)” ที่จะมีทองคำอยู่ 10-20 % ส่วนที่เหลืออาจเป็นทองแดง เงิน และโลหะอื่น ๆ แล้วแต่กรณี แท่งโดเร่ที่ได้จะถูกส่งไปถลุงในโรงงานที่ได้มาตรฐานสากลในต่างประเทศ เพื่อแยกให้เป็นทองคำที่มีความบริสุทธิ์ 99.99 % และโลหะชนิดอื่น ๆ ที่ปะปนอยู่ตามลักษณะทางธรณีวิทยา ก่อนจำหน่ายในตลาดต่อไป
การใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการผลิตอาจทำให้หลายคนรู้สึกไม่ปลอดภัย เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการรั่วไหลออกสู่ภายนอกและแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากผู้คนโดยทั่วไปรู้จักไซยาไนด์ในฐานะสารพิษที่สามารถใช้ฆ่าคนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรงงานเหล่านี้ใช้ระบบปิด (zero discharge) ซึ่งมีมาตรฐานการประกอบการและคู่มือการปฏิบัติงานที่ใช้กันในระดับนานาชาติรองรับ ในทางอุตสาหกรรมนั้น ไซยาไนด์เป็นสารเคมีตั้งต้นที่สำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ไนล่อน พลาสติกอะคริลิก การเคลือบโลหะ การผลิตเหล็กกล้า ยางสังเคราะห์ ยาปราบศัตรูพืช และฟิลม์ถ่ายรูป และจากที่มีการผลิตไซยาไนด์ทั่วโลกปีละ 1.4 ล้านตัน มีเพียงประมาณ 18 % เท่านั้นที่นำมาใช้ละลายแร่โลหะ เช่น ทองคำ และเงิน และอันที่จริง ความเข้มข้นของไซยาไนด์ที่ใช้ละลายทองคำนั้น น้อยกว่าที่มีอยู่ในมันสำปะหลังดิบเสียอีก ดังจะเห็นได้จากข่าวที่มีเด็กเสียชีวิตจากการกินมันสำปะหลังดิบโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หลายครั้ง
สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือการสกัดทองคำแบบชาวบ้านโดยใช้ปรอทไปจับทองคำออกมาจากดินทราย หรือมลทินต่าง ๆ แล้วนำปรอทที่อมทองไปเผา ซึ่งปรอทจะระเหยและเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของผู้ขุดทองคำโดยตรง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ เมื่อทิ้งปรอทใช้แล้วอยู่ในพื้นที่ขุดค้น ก็จะก่อให้เกิดการปนเปื้อนในดินและน้ำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
การทำเหมืองแร่ทองคำอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์จะไม่ทำให้เกิดการทรุดตัว หรือการพังทลายจนเกิดป็นอันตรายกับพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง แต่หากเป็นการขุดเจาะแบบพื้นบ้านในพื้นที่ลาดเขา หรือที่เป็นดินอ่อน โดยไม่มีการค้ำยัน หรือการเสริมความแข็งแรงอย่างถูกต้อง อาจเกิดความสูญเสียจากการเกิดดินถล่มได้ ซึ่งหลายคนคงได้เห็นข่าวจากสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง เมื่อรู้แบบนี้แล้วทองคำที่ว่ามีค่าก็อาจจะนำมาซึ่งอันตรายถึงชีวิต เมื่อรู้แบบนี้แล้วควรหลีกเลี่ยงเพื่อความปลอดภัยของชีวิต
สนับสนุนโดย
สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย