กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ในช่วง 7 เดือน มูลค่ากว่า 332,205 ล้านบาท ชี้นักลงทุนรายเดิม แห่ขยายกิจการมูลค่ารวม 256,775 ล้านบาท ด้าน ญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากที่สุด กระจายในทุกอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขณะที่ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐ กลุ่มใหญ่ลงทุนมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ช่วง 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม2555) ว่า นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 829 โครงการ เงินลงทุนรวม 332,205 ล้านบาท จำนวนโครงการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีจำนวน 599 โค รงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 62 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 205,196 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ ส่วนใหญ่ หรือประมาณร้อยละ 71 เป็นการลงทุนขยายการลงทุนจากโครงการเดิม โดยมีจำนวน 585 โครงการ เงินลงทุน 256,775 ล้านบาท และเป็นโครงการลงทุนใหม่ จำนวน 244 โครงการ เงินลงทุน 63,430 ล้านบาท
“ทิศทางการขยายการลงทุนของต่างชาติในประเทศไทยสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มี ต่อศักยภาพการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนของไทยและเป็นศูนย์กลางการผลิตของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นการเข้ามาลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายการผลิตภายหลังการฟื้นตัวจากการเผชิญปัญหาน้ำท่วม” นางอรรชกา กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติกระจายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มที่นักลงทุนสนใจลงทุนสูงสุด คือ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 281 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 122,255 ล้านบาท รองมาเป็น กิจการอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 171 โครงการ เงินลงทุน 81,326 ล้านบาท กิจการบริการ และสาธารณูปโภค 160 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 54,724 ล้านบาท กิจการเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก 114 โครงการ เงินลงทุน 31,524 ล้านบาท และกิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 43 โครงการ เงินลงทุน 18,380 ล้านบาท
ประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น มีจำนวน 474 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 210,884 ล้านบาท โดยมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 120 หรือขยายตัวประมาณ 1.2 เท่า จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 97,338 ล้านบาท ซึ่งการที่นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก สอดรับกับผลสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เรื่องแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำ ครึ่งปีแรก 2555 ซึ่งระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นจะลงทุนในไทยเพิ่มกว่าเดิม 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ โครงการลงทุนจากญี่ปุ่นที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งสิ้น อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ฟ้า ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์พลาสติก รวมทั้งกิจการด้านการวิจัยและพัฒนาในหลายอุตสาหกรรม โดยมีกิจการขนาดใหญ่ เช่น NIPPON STEEL GALVANIZING (THAILAND) CO., PANASONIC MANUFACTURING (THAILAND) CO., FUNAI (THAILAND) CO., LTD., NEC TOKIN ELECTRONICS (THAILAND) CO., LT, TOSHIBA SEMICONDUCTOR (THAILAND) CO., L TD., AJINOMOTO FROZEN FOODS (THAILAND) CO., JSR BST ELASTOMER CO., LTD. เป็นต้น
สำหรับการลงทุนที่มีมูลค่าระดับหมื่นล้านจากกลุ่มต่างๆ ประกอบด้วย สิงคโปร์ 78 โครงการ เงินลงทุน 19,079 ล้านบาท เนเธอร์แลนด์ 21 โครงการ เงินลงทุน 17,237 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 27 โครงการ เงินลงทุน 13,355 ล้านบาท ฮ่องกง 27 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 12,808 ล้านบาท มาเลเซีย 18 โครงการ เงินลงทุน 11,832 ล้านบาท จีน 21 โครงการ เงินลงทุน 11,550 และออสเตรเลีย 17 โครงการ เงินลงทุน 10,295 ล้านบาท
บีโอไอเล็งจัด Workshop ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมลงทุน
นางอรรชกากล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา บีโอไอได้พบปะหารือผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความเห็นและคำแนะนำสำหรับนำมาใช้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ เวิร์คชอป เรื่องการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะมีการระดมความเห็นจากภาคเอกชนชั้นนำหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะจัดอย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อนเสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป