กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--สบน.
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะกระทรวงการคลังแถลงว่า กระทรวงการคลังได้แต่งตั้งสถาบันการเงินเป็นผู้ค้าหลักสำหรับธุรกรรมประเภทซื้อขายขาดของกระทรวงการคลัง (MOF Outright PD) เพื่อให้ทำหน้าที่เป็น Market Maker เพื่อสร้างสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ และเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับนักลงทุนเพื่อขยายฐานนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการเสริมสร้างสภาพคล่องนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันการเงินที่ผ่านการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้น 13 ราย ได้แก่
1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
3. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
4. ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส สาขากรุงเทพฯ
5. ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ.
6. ธนาคารดอยซ์แบงก์ เอจี สาขากรุงเทพฯ
7. ธนาคารเดอะรอยัลแบงก์อ๊อฟสก็อตแลนด์ เอ็น.วี.
8. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
9. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
10. ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ สาขากรุงเทพฯ
11. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
12. ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
13. บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
การแต่งตั้ง MOF Outright PD ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงการคลังได้ดำเนิน การคัดเลือกและแต่งตั้งผู้ค้าหลัก ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน หรือ Partnership และเป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย เพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยให้เป็นเสาหลักทางการเงินของประเทศที่มีความมั่นคงและยั่งยืน
สำหรับหน้าที่และสิทธิประโยชน์ของ MOF Outright PD นั้น กระทรวงการคลังพิจารณากำหนดโดยคำนึงถึงความสมดุลของหน้าที่และสิทธิประโยชน์ เพื่อให้ MOF Outright PD มีแรงจูงใจที่จะทำหน้าที่ Market Maker และสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ และมุ่งเน้นให้เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Partnership) โดยเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นระหว่างกัน โดยกระทรวงการคลังได้มีการศึกษารูปแบบ Primary Dealer ในต่างประเทศที่มีการพัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างโดดเด่นและต่อเนื่อง เช่น สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นต้น และได้ร่วมพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และผู้ร่วมตลาดด้วย เพื่อให้ระบบ PD เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างแท้จริง
MOF Outright PD ตามรายชื่อข้างต้น จะมีหน้าที่และได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2555 (ปีงบประมาณ 2556) สำหรับหน้าที่สำคัญของ MOF Outright PD ได้แก่ การเข้าร่วมประมูลพันธบัตรรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ การได้รับจัดสรรการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นที่กระทรวงการคลังกำหนดในตลาดแรก และการรักษาสัดส่วนการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลรุ่นที่กระทรวงการคลังกำหนดในตลาดรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 รวมถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในมิติต่างๆ เป็นต้น ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีการกำกับ ติดตาม และการประเมินผลการทำหน้าที่ทั้งในตลาดแรกและตลาดรองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ MOF Outright PD จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้แก่
1. สิทธิเฉพาะ MOF Outright PD หรือ Exclusivity ในการเข้าประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 5 ปี
2. เป็นคู่ค้าของ ธปท. ในการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง
3. สิทธิเป็นตัวกลางในการประมูลแบบไม่แข่งขันราคา (Non-competitive Bid)
4. สิทธิในการได้รับการพิจารณาเป็นคู่ค้าของกระทรวงการคลัง (MOF Preferred Counterparty) ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ
5. มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่กระทรวงการคลังในการวางแผนการออกตราสารหนี้ภาครัฐ
6. ได้รับประโยชน์จาก Incentive Program ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย