กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--ก.ล.ต.
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวในงานสัมมนาที่จัดโดย ก.ล.ต. เรื่อง “Private Equity พันธมิตรของกิจการสู่การเติบโต” ว่า ก.ล.ต. เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมให้ธุรกิจทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน โดยสร้างเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย โดยมีแหล่งทุนประเภทหนึ่งที่เหมาะสำหรับธุรกิจที่จัดตั้งได้ไม่นานและมีศักยภาพ
ในการเติบโตสูง นั่นคือ กิจการเงินร่วมลงทุน หรือ Private Equity (PE)
PE คือธุรกิจที่เกิดจากการนำเงินของผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนที่มีฐานะการเงินดี ไปลงทุนในกิจการเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และต้องการเงินทุนมาเพื่อใช้ในการปรับปรุงโครงสร้าง การขยายกิจการหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยหากไปลงทุนในกิจการที่ตั้งใหม่ หรือกิจการที่ยังไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะเรียก PE นั้นว่า Venture Capital (VC)
การลงทุนของ PE มีเป้าหมายเพื่อทำกำไร หวังผลตอบแทนสูง เพื่อให้คุ้มค่ากับความเสี่ยง โดยเน้นลงทุนระยะยาว มีระยะเวลาการลงทุนที่แน่นอน เน้นลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตเร็ว และอาจเป็นธุรกิจที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น มีการบริหารเงินร่วมลงทุนอย่างมืออาชีพ โดยให้นักบริหารเงินมืออาชีพเป็นผู้ดูแลผลตอบแทนจากการลงทุน ผู้ประกอบการ SMEs บางรายอาจเข้าใจว่า PE จะเข้ามายึดอำนาจความเป็นเจ้าของ หรือครอบงำกิจการ แต่แท้จริงแล้ว PE เข้ามาเป็นพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกิจการ ทั้งด้านเงินทุน การบริหารจัดการ การจัดโครงสร้าง และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ธุรกิจก้าวสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และเมื่อถึงเป้าหมาย PE ก็จะขายหุ้นออกซึ่งอาจเป็นการขายให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อมีการนำหุ้นเข้าจดทะเบียน
ในตลาดหลักทรัพย์ในการสนับสนุนให้ SMEs สามารถใช้ประโยชน์จาก PE ได้ในทางปฏิบัติ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการ 5 ด้าน ได้แก่
(1) เปิดกว้างให้แก่ผู้ที่ต้องการบริหารจัดการกิจการเงินร่วมลงทุน โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ผู้จัดการกิจการเงินร่วมลงทุนไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
(2) กำหนดให้กิจการเงินร่วมลงทุนสามารถตั้งในรูปแบบของบริษัท หรือ ทรัสต์ ก็ได้ เพื่อความคล่องตัว
(3) ประสานงานกับกรมสรรพากร เพื่อขอยกเว้นภาษี capital gain และภาษีเงินปันผล ให้แก่ผู้ลงทุนที่ลงทุนในกิจการเงินร่วมลงทุน และกิจการเงินร่วมลงทุนนั้นลงทุนในธุรกิจที่รัฐให้การส่งเสริม โดยธุรกิจดังกล่าวจะต้องเข้าเงื่อนไข ได้แก่ต้องเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน เป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เป็นธุรกิจที่ทำให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศ และเป็นธุรกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
(4) ประสานงานกับกรมสรรพากรเพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กิจการเงินร่วมลงทุน โดยไม่กำหนดระยะเวลาที่กิจการเงินร่วมลงทุนต้องลงทุนในธุรกิจเป้าหมาย และ
(5) หารือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)เพื่อสนับสนุนให้กิจการเงินร่วมลงทุนเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบหลักของธุรกิจ
ก.ล.ต. มุ่งหวังว่า ธุรกิจจะเห็นประโยชน์ของการมี PE เป็นพันธมิตร ซึ่งนอกจากจะได้เห็นการเติบโตของธุรกิจเองแล้ว ประเทศชาติก็จะมีธุรกิจที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีสูงเป็นฐานธุรกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคตได้อย่างแน่นอน