แพทย์ไทยเลือกศึกษาต่อ MBA เพิ่มศักยภาพรับมือการเปิดตลาด AEC ย้ำจุดแกร่งได้เปรียบต่างชาติทั้งความเชี่ยวชาญและความโอบอ้อมอารี

ข่าวทั่วไป Wednesday August 29, 2012 18:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--ศศินทร์ การรวมตัวกันของประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียนทั้ง 11 ประเทศในปี พ.ศ.2558 ที่จะถึงนี้ ทำให้เกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) เพื่อร่วมกันสร้างเสถียรภาพทางด้านการเมืองและทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การรวมตัวในครั้งนี้นอกจากแพทย์ไทยจะมีโอกาสเดินทางไปทำงานในต่างแดนได้อย่างเสรีแล้ว ในอนาคตธุรกิจโรงพยาบาลก็จะมีทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น เพื่อเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แพทย์ไทยพร้อมสร้างความแข็งแกร่งให้กับวิชาชีพโดยการนำความรู้ด้านการบริหารมาใช้กับการทำงาน โดยส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกศึกษาต่อกับสถาบันที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ทำให้สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือเป้าหมายสำคัญของทุกสาขาอาชีพสำหรับการศึกษาต่อด้าน MBA เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สว่าง แสงหิรัญวัฒนา หัวหน้าศูนย์ระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เปิดเผยเกี่ยวกับ แพทย์ไทยกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า แพทย์ไทยมีความได้เปรียบเนื่องจากส่วนใหญ่จบการศึกษาจากอเมริกา รวมทั้งมีความทันสมัยในเรื่องเทคโนโลยีทางการรักษา รวมถึงคนไทยมีความโอบอ้อมอารีเป็นพิ้นฐาน อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ทางโรงพยาบาลได้เตรียมการเรื่องบุคลากรเพื่อรองรับ รวมถึงทางโรงพยาบาลได้ไปบรรยายให้ความรู้ทางการแพทย์ในประเทศต่างๆในแถบเอเชียเพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งการรวมกลุ่มระหว่างโรงพยาบาลสมิติเวชกับโรงพยาบาลกรุงเทพ และขยายเครือข่ายการรักษาทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ดีที่คนไข้จะมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานมากขึ้น เนื่องจากทางการแพทย์ไม่ได้สอนเรื่องการบริหารจัดการ จึงได้ศึกษาเพิ่มเติมที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมาประกอบกับประสบการณ์ในการทำงานมาใช้ในการทำงานได้ป็นอย่างดี ที่สำคัญหากเราต้องการเรียนที่สถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดต้องไปเรียนที่อเมริกา เมื่อศศินทร์มีอาจารย์จากอเมริกาเดินทางมาสอนถึงประเทศไทย จึงตัดสินใจเรียนที่นี่ หลังจากเรียนแล้วสามารถนำความรู้มาใช้กับอาชีพทางการแพทย์ เช่น การบริหารองค์กร การวิจัยทางการแพทย์ รวมทั้งเรื่องการลงทุนที่นำความรู้สาขาไฟแนนซ์มาบริหารจัดการ รวมถึงโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับสังคม ที่ทำให้ประหยัดงบประมาณและระยะเวลาการทำงานได้รวดเร็วขึ้น “ความรู้ที่ได้มาจากศศินทร์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน เช่น การควบคุมคุณภาพ ความทันสมัยและมีวิสัยทัศน์ ทำให้สามารถทำโครงการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวทางการทำงานทางการ แพทย์สมัยใหม่ ซึ่งจะต้องติดตามวิทยาการใหม่ ๆ ทั่วโลก เพราะการรักษาคนไข้ต้องทันกับเหตุการณ์ และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับทีมงานเพื่อจะได้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน” ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สว่าง กล่าว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแพทย์และโรงพยาบาลของไทยมีศักยภาพและพร้อมแข่งขันในตลาด AEC เนื่องจากมีการศึกษาด้านการบริหารที่สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวัดผลด้านประสิทธิภาพ เวลา ราคา การบริการ ความพึงพอใจของคนไข้ฯลฯ นอกจากคนไทยแล้วยังมีคนไข้ต่างชาติ ซึ่งเราจะต้องมีความพร้อมด้านภาษาและเข้าใจถึงวัฒนธรรมแต่ละชาติ รวมถึงการรักษาจะต้องเน้นเรื่องการดูแลเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด ทางด้าน ทันตแพทย์หญิง ทัศนีย์ เลิศอุตสาหกูล ผู้อำนวยการศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ-พัทยา เปิดเผยถึงการตัดสินใจมาศึกษาต่อที่สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ว่าก่อนหน้านี้มีพื้นฐานความรู้ทางการบริหารธุรกิจไม่มาก เมื่อมีโอกาสเข้ามาบริหารศูนย์ทันตกรรมซึ่งต้องใช้ความรู้ทางด้านบริหารและการจัดการสูงขึ้น จึงตัดสินใจเข้ามาเรียนที่ศศินทร์ เพราะเป็นการเรียนหลักสูตรของวิทยาลัยการจัดการเคลลอกก์ แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิน และวิทยาลัยวาร์ตัน แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และเราสามารถเรียนและทำงานในเมืองไทยได้ เรียนแล้วไม่ผิดหวังเพราะความรู้ที่ได้จากการศึกษาเพิ่มเติมนี้ ทำให้มีความคิดในเชิงธุรกิจเป็นระบบมากขึ้น มุมมองในการทำธุรกิจที่กว้างขึ้น การกำหนดกลยุทธ์ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายของโรงพยาบาลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องลองผิดลองถูก ถ้าไม่ได้เรียนคิดว่าคงทำงานได้ไม่ดีนัก ถือได้ว่าศศินทร์ทำให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการบริหารธุรกิจ ท.พญ ทัศนีย์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “นอกจากความรู้แล้ว การศึกษาต่อที่ศศินทร์ทำให้เรามีสังคมใหม่ มีเพื่อนๆจากหลายสาขาอาชีพ ระบบการเรียนการสอนสนับสนุนให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ปัจจุบันความสัมพันธ์กับ เพื่อน ๆ ยังคงเหนียวแน่น พวกเรามีโอกาสช่วยเหลือกัน และแลกเปลี่ยนแนวความคิดในการทำงานให้คำแนะนำซึ่งกันและกันจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้แล้วยังประทับใจอาจารย์ผู้สอน เพราะแต่ละท่านมีความตั้งใจ และถ่ายทอดความรู้ได้ดี มาก และเปิดโอกาสให้นิสิตแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ที่สำคัญการเรียนที่ศศินทร์ได้ใชัทักษะภาษาอังกฤษในการเรียน รวมทั้งการสื่อสารทั้งกับอาจารย์และเพื่อนๆ ไม่ต่างกับการไปเรียนต่างประเทศ” ท.พญ ทัศนีย์ กล่าวและให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ว่า โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านมาตรฐานการบริหารจัดการ และการบริการให้อยู่ในระดับโลก เช่น ในส่วนบุคคลากร มีการอบรมในแต่ละแผนก ทั้งเรื่องภาษาอังกฤษและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เนื่องจากปัจจุบันนี้คนไข้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างประเทศ ที่มีความต้องการบริการทางการแพทย์เฉพาะทาง และยังต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการ สื่อสาร คิดว่าจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติที่มากอยู่แล้ว น่าจะเพิ่มขึ้นอีก เราควรต้องเตรียมความพร้อมมากขึ้น? หลังจากจากเปิด AEC มีการคาดการณ์ว่าจะมีต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีจำนวนโรงพยาบาลให้เลือกใช้บริการเพิ่มขึ้น และการแข่งขันจะทำให้คนไข้ได้รับบริการที่ดีขึ้น นอกจากนี้แล้ว วิชาชีพสายการแพทย์จะสามารถย้ายไปทำงานในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันบุคลากรสายการแพทย์จากประเทศอื่น ๆ ก็จะมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในประเทศไทยเช่นกัน และการแข่งขันอาจทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็กได้รับผลกระทบ รวมถึงราคาการรักษาอาจแพงขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีชื่อเสียงทางการแพทย์อยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าเราจะได้เปรียบต่างชาติทั้งเรื่องบุคลากรที่มีคุณภาพ,มีความโอบอ้อมอารีของคนไทยรวมทั้งระบบมาตรฐานการแพทย์ระดับสากล
แท็ก community   อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ