กรมการแพทย์พัฒนาองค์ความรู้ระบบการดูแลรักษาผู้สูงอายุ

ข่าวทั่วไป Thursday August 30, 2012 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--กรมการแพทย์ จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม และเศรษฐกิจ ทำให้ประชากรไทยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ระบุว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มจาก 6,617,000 คน (ร้อยละ 10.2) ในปี 2548 เป็น 9,104,000 คน (ร้อยละ 13.2) ในปี2558 ถือว่าเป็นการเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าจากโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สังคมไทยมีผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มมากขึ้น และมีปัญหาด้านสุขภาพตามมา โดยเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง(อัมพฤกษ์/อัมพาต) ไขมันในเลือดสูง สมองเสื่อม รวมถึงสภาพร่างกายและจิตใจเสื่อมลง ทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อม กลั้นปัสสาวะไม่ได้ และโรคซึมเศร้า ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็น ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเตรียมความพร้อมในระบบบริการสังคมและสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในอนาคต กรมการแพทย์โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ มีภารกิจ ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ จึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากหน่วยงานทั่วประเทศ โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้สูงอายุในโรงพยาบาลและเครือข่ายคลินิกผู้สูงอายุ (ขั้นสูง) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพให้แก่แพทย์ พยาบาล ทีมสหวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในคลินิกผู้สูงอายุให้สามารถนำความรู้ไปใช้ในการจัดตั้งและพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้สูงอายุในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ โดยมีเกณฑ์ต้นแบบคลินิกผู้สูงอายุ 1 โมเดล 1 เขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวชี้วัด นายแพทย์นันทศักดิ์ ธรรมานวัตร์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุแต่ละคนมีสภาพร่างกายที่แตกต่างกันแม้จะมีอายุใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นผลมาจากลักษณะโครงสร้างของแต่ละบุคคล พันธุกรรม สภาวะโภชนาการ การออกกำลังกายและลักษณะการใช้ชีวิต ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยสูงอายุต้องคำนึงถึงสภาพความแตกต่างของแต่ละบุคคล จากการสำรวจสภาวะสุขภาพประชาชนไทยพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังคนละอย่างน้อย 2 — 3 โรค โรคที่พบบ่อย 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ข้อเข่าเสื่อม เบาหวาน ปัจจุบันระบบการดูแลรักษาผู้สูงอายุในโรงพยาบาลต่าง ๆแบ่งออกเป็น 3 ระบบ คือระบบการบริการ ระบบการบริหาร และระบบวิชาการงานผู้สูงอายุในโรงพยาบาล ทั้งนี้ ทุกคนควรใส่ใจในการดูแลภาพสุขภาพของตนเองตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ไม่ต้องรอให้สูงอายุ เพราะสุขภาพที่ดีในวันนี้เกิดจากการดูแลตนเองในช่วงเวลาที่ผ่านมา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี 0-38343565-8 หรือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมการแพทย์ 0-25918254

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ