กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--กรมส่งเสริมการส่งออก
ส่งออกวิเคราะห์เส้นทางโลจิสติกส์ลาว เวียดนาม จีน ลดต้นทุน เพิ่มโอกาสทางการค้าลงทุน เชื่อมโยงโครงข่าย ใช้ประโยชน์จากอาเซียน-จีนอย่างเต็มที่ เน้นผลิตสินค้าใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยถึงการเดินทางสำรวจวิเคราะห์เส้นทางการค้าสปป.ลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและสาธารณรัฐประชาชาน่จีน ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม — 2 กันยายน 2555ว่า กรมฯได้เร่งเพิ่มศักยภาพเส้นทางและโอกาสการค้าการลงทุน ตามเส้นทางขนส่งระหว่าง ไทย กับ 3 ประเทศ เพื่อหาลู่ทางขยายตลาดสินค้าและบริการไทย ตลอดจนวางแนวทางการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งต่างๆ ในภูมิภาค
รวมถึงสำรวจเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และศูนย์กระจายสินค้า เพื่อศึกษาช่องทางกระจายสินค้าและบริการของไทยไปยังภูมิภาคอาเซียนและจีน พร้อมกับหารือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านการค้า การลงทุน เพื่อรับฟังแนวทางการส่งเสริมการลงทุน และหารือแนวทางความร่วมมือในการขยายการค้าการลงทุนของไทย และพบนักธุรกิจไทยในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรค และระดมความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) ด้านการค้าการลงทุน
“ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีประชากรเกือบ 600 ล้านคน มีการค้าระหว่างกันกว่า 25% และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์ตลาดโลกซบเซา แต่เศรษฐกิจอาเซียนกำลังฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ จึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่า อาเซียนสามารถพึ่งพาตลาดภายในกลุ่มด้วยกันเองได้ ไทยและอาเซียนควรต้องใช้ประโยชน์ในการฟื้นตัวนี้ให้เต็มที อาทิ การพัฒนาก้าวขึ้นอีกขั้น สู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น โดยใช้วัตถุดิบของเราเอง และนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมมาผสมผสานเป็นสินค้าอนาคตเฉพาะของอาเซียน พร้อมๆ กับการสร้างแบรนด์ของตนเองให้แข็งแกร่งและการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้ทำธุรกิจแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยเฉพาะในสาขาโลจิสติกส์จะถูกลดต้นทุนลง เกิดระบบที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและขยายโอกาสในการเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น”นางนันทวัลย์ กล่าว
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เออีซี ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกรมส่งเสริมการส่งออก ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมของภาครัฐและเอกชนให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าสู่เออีซี โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก คือ การมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน และประเทศที่อาเซียนมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี รวมถึงสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรตลอดจนผลักดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและแก้ไขปัญหาอุปสรรค
นางนันทวัลย์ กล่าวว่า การเดินทางจะไปที่นิคมอุตสาหกรรมที่สนใจใกล้กรุงฮานอย Nomura-Haiphon Industrial Zone ห่างจากกรุงฮานอย 85 กม. ใกล้ท่าเรือเมืองไฮฟอง ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างฮานอย Haiphon Industrial Zone Development ของเวียดนามและ JAFCO Investment(Asia Pacific)Ltd. ของญี่ปุ่น มีพื้นที่ 153 เฮกเตอร์ เปิดดำเนินการในปี 2537 ในจังหวัดHai Phong ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมเก่าแก่ และมีท่าเรือสามารถใช้เป็นประตูสู่ทาเรืออื่นๆ ในภาคเหนือของเวียดนาม รวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออก นอกจากนี้นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีจุดเด่นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร ชิ้นส่วนยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับผลิตภัณฑ์พลาสติก อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านคุณภาพสูง เป็นต้น
นอกจากนี้จะเดินทางไปเมืองชายแดนติดประเทศเวียดนาม คือ ด่านผิงเสียง ซึ่งถือเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ โดยความร่วมมือจีนกับอาเซียน ทางการกว่างซีเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้เร่งบูรณาการระบบโครงสร้างพื้นฐานและระเบียบขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากร เพื่อสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุน และยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของด่านต่างๆ ในอำเภอแห่งนี้ ปัจจุบันด่านนี้มีการนำเข้าส่งออกผลไม้กับอาเซียนที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีเวียดนามเป็นตลาดนำเข้าส่งออกหลัก ภายใต้รูปแบบการค้ามูลค่าต่ำตามแนวชายแดน ผลไม้ส่งออกหลัก ได้แก่ ส้ม แอปเปิ้ล และสาลี่ ขณะที่ผลไม้นำเข้าหลัก ได้แก่ ลำไย แตงโม และแก้วมังกร
“เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามแดนผิงเสียง-ดงด่าน เวียดนาม ของเขตกวางซี ประเทศจีน กับจังหวัดหลั่งเซิน ประเทศเวียดนาม มีโครงการจัดตั้งเขตสินค้าแปรรูป จีน-เวียดนาม ทั้งสองเขตไม่ต้องเสียภาษี ถือว่าผลิตเพื่อการส่งออก สำหรับการจัดตั้งศูนย์การขนส่งและกระจายสินค้า ที่เมืองผิงเสียง มีพื้นที่ 4,800 ไร่ สามารถขนถ่ายสินค้าสูงถึง 6 ล้านตันต่อปี และมีประสิทธิภาพในการให้บริการด้านพิธีการศุลกากรเพิ่มขึ้น 10 เท่า”นางนันทวัลย์ กล่าว
สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการส่งออก
โทร.(02) 507-7932-34