รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2555

ข่าวทั่วไป Monday September 3, 2012 09:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง “สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยุโรปเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกไปยุโรปที่หดตัวมาก ทำให้มูลค่าการส่งออกโดยรวมหดตัวลงร้อยละ -4.5 อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภายในประเทศยังสามารถขยายตัวได้ดี ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งจะสามารถช่วยรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้” นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า “เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2555 บ่งชี้ว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยุโรปเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกไปยุโรปที่หดตัวมากร้อยละ -21.4 ส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกโดยรวมหดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในด้านอุปสงค์ภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนที่ยังคงขยายตัวได้ดี สะท้อนได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัวที่ร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.2 สำหรับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 34.1 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 65.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ภาคการผลิตของไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2555 ที่หดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวของสาขาการผลิตที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และน้ำมันปิโตรเลียม เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการผลิตจากภาคเกษตรและภาคบริการยังสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัวที่ร้อยละ 15.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน” รองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวสรุปว่า “ในระยะต่อจากนี้ไป ประเด็นทางเศรษฐกิจที่ยังต้องจับตามองมี 2 ประเด็น คือ (1) ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังคงชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ที่สะท้อนได้จากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจกลุ่มยุโรป (เบื้องต้น) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ที่หดตัวร้อยละ -0.4 และ (2) ทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่สะท้อนได้จากการส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคม 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากผลกระทบของวิกฤตหนี้สาธารณะของกลุ่มยุโรปที่ทำให้อุปสงค์จากต่างประเทศชะลอลง อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยจะสามารถช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ให้ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะได้มีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในรอบสิ้นเดือนกันยายน 2555 ต่อไป” รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามเอกสารแนบ เอกสารแนบ รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2555 “สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยุโรปเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกไปยุโรปที่หดตัวมาก ทำให้มูลค่าการส่งออกโดยรวมหดตัวลงร้อยละ -4.5 อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภายในประเทศยังสามารถขยายตัวได้ดี ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งจะสามารถช่วยรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้” 1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคมของปี 2555 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในกรกฎาคม 2555 ขยายตัวที่ร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายร้อยละ 10.1 สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 11.2 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 99.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 84.2 เนื่องจากการเพิ่มกำลังการผลิตของค่ายรถยนต์ต่างๆ เพื่อตอบสนองอุปสงค์ของรถยนต์ที่ยังคงขยายตัวในอัตราเร่ง และความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.2 ตามการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนของภูมิภาคและยอดขายรถจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 และร้อยละ 27.1 สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของประชาชนในระดับฐานรากฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกรกฎาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 68.2 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 68.5 เนื่องจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย และการปรับขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ทำให้มีแรงกดดันในเรื่องค่าครองชีพเป็นสำคัญ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน 2555 Q1 Q2 มิ.ย. ก.ค. YTD ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่(%yoy) 12.0 6.3 10.1 18.8 10.3 ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค(%yoy) 14.1 7.5 4.1 11.2 10.9 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง(%yoy) -5.4 77.0 84.2 99.6 41.5 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์(%yoy) -0.6 4.4 -4.2 6.1 2.6 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค 65.3 67.7 68.5 68.2 66.8 2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคมของปี 2555 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 34.1 ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 65.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 68.3 เนื่องจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงกำลังการผลิตของค่ายรถยนต์ต่างๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 45.1 โดยถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 สอดคล้องกับยอดการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ที่ปรับฤดูกาล) ที่ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ในขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน 2555 Q1 Q2 มิ.ย. ก.ค. YTD เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน(%yoy) 11.0 22.0 8.8 34.1 19.0 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์(%yoy) 33.5 62.3 68.3 65.5 49.1 เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์(%yoy) 4.6 26.3 45.1 2.5 13.8 ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์(%yoy) 5.3 5.2 7.7 12.9 6.4 3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนกรกฎาคมของปี 2555 พบว่า รายได้รัฐบาลจัดเก็บได้สูงขึ้น โดยในเดือนกรกฎาคม 2555 ผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)) เท่ากับ 126.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.5 สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนกรกฎาคม 2555 มีจำนวน 179.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 171.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 146.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 และ (2) รายจ่ายลงทุน 24.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ35.1 สำหรับรายจ่ายเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 8.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับฐานะการคลัง พบว่า ดุลเงินงบประมาณในเดือนกรกฎาคม 2555 ขาดดุลจำนวน -52.7 พันล้านบาท เครื่องชี้ภาคการคลัง 2555 Q1/FY55 Q2/FY55 Q3/FY55 มิ.ย. ก.ค. YTD รายได้สุทธิของรัฐบาล 398.4 412.8 620.3 133.8 126.7 1,558.4 (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) (%y-o-y) 0.7 4.8 3.8 21.5 24.9 4.7 รายจ่ายรวม 489.8 779.5 459.9 157.4 179.2 1,908.5 (%y-o-y) -18.1 39.0 -14.6 -16.1 25.3 3.7 ดุลเงินงบประมาณ -84.7 -372.3 169.4 149.5 -52.7 -340.4 4. การส่งออกในเดือนกรกฎาคมของปี 2555 ชะลอลงต่อเนื่องตามสัญญาณแผ่วลงของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยพบว่า การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม 2555 มีมูลค่า 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.3 เนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรป ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการผลิตและจำหน่ายสินค้าในหลายประเทศ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของไทย อาทิ สหภาพยุโรป สิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน เป็นต้น ทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลงมากเป็นสินค้าในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ -15.4 เกษตรหดตัวร้อยละ -15.2 โดยเฉพาะข้าวหดตัวร้อยละ -28.5 และยางพาราหดตัวร้อยละ -33.8 สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม 2555 พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 21.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 โดยเป็นการนำเข้าในหมวดสินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนกรกฎาคม 2555 ขาดดุลอยู่ที่ -1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศคู่ค้าหลักของไทย 2555 (สัดส่วนการส่งออก) Q1 Q2 มิ.ย. ก.ค. YTD มูลค่าการส่งออกรวม (%yoy) -1.4 2.0 -2.3 -4.5 -0.4 1. จีน (12.0%) 1.4 13.7 3.1 -7.5 0.5 2. ญี่ปุ่น (10.5%) -6.3 -1.2 -1.9 -3.5 -3.9 3. สหรัฐฯ (9.6%) 2.1 4.6 3.1 2.3 3.0 4. สหภาพยุโรป (9.4%) -16.9 -7.5 -17.6 -21.4 -13.8 5. มาเลเซีย (5.6%) 4.7 0.8 -12.1 -20.1 -0.6 6. สิงคโปร์ (5.1%) 2.7 1.0 2.6 -25.4 -2.4 7. อาเซียน-5 (16.9%) 4.8 6.8 0.2 -11.9 3.2 5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนกรกฎาคมของปี 2555 พบว่า ดัชนีผลผลิตภาคการเกษตรและภาคบริการมีสัญญาณการฟื้นตัวได้ดี ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีสัญญาณชะลอลง โดยพบว่า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2555 มีสัญญาณการปรับตัวชะลอลง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2555 หดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.5 สาเหตุสำคัญมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มยุโรป เศรษฐกิจจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีสัญญาณชะลอตัว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องประดับ และน้ำมันปิโตรเลียม อย่างไรก็ดี ยังมีอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และยานยนต์ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2555 ที่อยู่ที่ระดับ 98.7 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 102.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และเป็นค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม ในขณะที่เครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนกรกฎาคม2555 ขยายตัวที่ร้อยละ 15.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผล และหมวดปศุสัตว์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ยางพารา และมันสำปะหลังที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่แล้ว ในขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากผลผลิตสุกรและไก่เนื้อที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 และร้อยละ 8.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 และหดตัวร้อยละ -2.2 ตามสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของสัตว์เลี้ยง สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.80 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มที่ขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย โดยขยายตัวร้อยละ 13.8 7.9 และ 11.6 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มอาเซียนและตะวันออกกลางมีการหดตัวที่ร้อยละ -1.0 และ -31.6 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติชาวมุสลิมชะลอการเดินทางเพื่อเตรียมเข้าสู่การเริ่มรอมฎอนในวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน 2555 Q1 Q2 มิ.ย. ก.ค. YTD ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy) -6.8 -1.5 -9.5 -5.8 -4.5 ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรม (%yoy) 2.7 2.4 5.7 15.3 4.1 นักท่องเที่ยวต่างชาติ(%yoy) 8.1 10.0 11.1 4.6 8.3 6. เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคมขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของราคาผักและผลไม้เป็นสำคัญ ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ เป็ดและไก่ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 1.9 อยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 2.7 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 43.3 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2555 อยู่ในระดับสูงที่ 175.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.9 เท่า เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ 2555 Q1 Q2 มิ.ย. ก.ค. YTD ภายในประเทศ เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy) 3.4 2.9 2.6 2.7 2.9 เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy) 2.7 2.0 1.9 1.9 2.3 อัตราการว่างงาน (yoy%) 0.7 0.9 0.7 n.a. 0.8 ภายนอกประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน$) 0.6 -2.5 0.6 n.a. -1.9 ทุนสำรองทางการ (พันล้าน$) 179.2 174.7 174.7 175.4 175.4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ