กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--ก.ไอซีที
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แถลงผลงานภายหลังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครบรอบ 1 ปี ซึ่งแบ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาและนโยบายเร่งด่วนที่ดำเนินการในปีแรก การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การดำเนินงานอื่นๆ ของหน่วยงานในกำกับ ที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงฯ โครงการอื่นๆ ที่กระทรวงฯ ริเริ่มขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย การดำเนินการตามบัญชานายกรัฐมนตรี รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี และผลการดำเนินการสร้างความสัมพันธ์ด้าน ICT กับต่างประเทศ
ในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภานั้น กระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายความมั่นคงแห่งรัฐในเรื่องการเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และการพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติ รวมทั้งนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในปีแรก คือ การจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ และนโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในเรื่องการสร้างความสามัคคีและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน รวมถึงการเสริมสร้างบทบาทที่สร้างสรรค์และส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติในองค์การระหว่างประเทศ
โดย กระทรวงฯ ได้ดำเนินการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ ได้แก่ การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ผ่านโครงการถวายพระพรออนไลน์ รวมทั้งการสร้างตราไปรษณียากรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ และกิจกรรมพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกอินเทอร์เน็ต โดยการจัดตั้ง Cyber Security Operation Center หรือ ศูนย์ CSOC การจัดตั้งเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเทิดทูนและพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เครือข่ายภาคประชาชนมีส่วนร่วมโดยใช้หลักการ “น้ำดีไล่น้ำเสีย การประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศเพื่อระงับการเผยแพร่ภาพและเนื้อหาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และโครงการลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Cyber Scout) โดยการสร้างอาสาสมัคร Cyber Scout เพื่อพ่อหลวง จำนวน 102,082 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าระวังสิ่งที่ไม่เหมาะสมและภัยในอินเทอร์เน็ต
นอกจากนั้น ยังมีโครงการจัดทำศูนย์บริการประชาชน ICT (One Stop Service) โครงการพัฒนาโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงให้ครอบคลุม ทั่วถึง เพียงพอ มีคุณภาพ ด้วยราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม โครงการ Free Public WiFi โดยวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (Wi-Fi) ซึ่งในปี 2555 ติดตั้งให้บริการจำนวน 30,000 จุดในปี 2555 และในอนาคตจะขยายบริการทั่วประเทศ 250,000 จุด
พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังได้มีการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ (GIN) การวางระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ การจัดทำ Smart Card Application การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน ICT โดยการจัดทำกรอบมาตรฐานวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การจัดตั้งคณะกรรมการผู้บริหาร ICT ระดับสูงภาครัฐ การยกระดับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติไปสู่ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ การวางแนวทางดำเนินการภายหลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และปรับปรุงโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจในกำกับ การจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน
และกระทรวงฯ ยังได้ดำเนินนโยบาย Smart Thailand ใน 3 ด้าน คือ 1. Smart Network ดำเนินการศึกษาเพื่อผลักดันการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยการพัฒนาและขยายโครงข่าย Smart Network ด้วยการใช้โครงข่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการ IPv6 เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการใช้งานจาก IPv4 ไปสู่ IPv6 และการทดสอบเทคโนโลยี“4G Thailand The First 100 Mbps” ด้วย
2. Smart Government ได้ดำเนินการขยายการเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อสารข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) การจัดทำโครงการ Government Cloud Service และโครงการพัฒนาระบบข้อมูลสำหรับเด็กและสตรีในประเทศไทย (MICS : Multiple Indicator Cluster Survey) 3. Smart Business ดำเนินการป้องกันภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายใต้ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ThaiCERT) การจัดทำ e-CERTIFICATE เพื่อการรับรอง Print out การส่งเสริมการดำเนินงานของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรองรับการทำการค้าระหว่างประเทศ
ด้านการดำเนินงานของหน่วยงานในกำกับที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบาย นั้น ได้มีการดำเนินการในเรื่อง การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนให้เกิดความยั่งยืน การพัฒนาและส่งเสริมผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส การรักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมของประเทศไทยการพัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์ร่วมกับมหาวิทยาลัย 26 แห่ง การส่งเสริมการนำโปรแกรมโอเพนซอร์สไปใช้ในการพัฒนาโปรแกรมต่อยอดของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และผู้ใช้ซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรม การส่งเสริมให้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อผู้พิการ โครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์
นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินการตามบัญชานายกรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรี โดยร่วมดำเนินการกับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ติดตามการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จัดตั้ง Emergency Call Center โดยใช้เลขหมายโทรศัพท์ 192 ดำเนินการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบส่งข้อความสั้น พัฒนาระบบการพยากรณ์อากาศและเตือนภัยธรรมชาติ และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการพยากรณ์อากาศและการเตือนลักษณะอากาศร้าย
สำหรับโครงการอื่นๆ ที่กระทรวงฯ ริเริ่มขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายนั้น ได้ดำเนินการ 2 โครงการ คือ โครงการ Smart Province ในจังหวัดนครนายก ซึ่ง กสทฯ ได้ร่วมดำเนินการขยายโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วขนาด 48 Core ระยะทาง 60 กิโลเมตร เพื่อให้ครอบคลุมทุกตำบลในพื้นที่จังหวัดนครนายก ขณะที่ สรอ. ได้ร่วมสนับสนุนการนำร่องการบริหารงานราชการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้เข้าถึงประชาชนในระดับหมู่บ้าน และ ซิป้า ได้ดำเนินการจัดทำซอฟต์แวร์สนับสนุน เพื่อให้สามารถใช้งานระบบจังหวัดอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนอีกหนึ่งโครงการ คือ การจัดทำหลักสูตร CIO โดยพัฒนาหลักสูตรการวางแผนและการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศและเตรียมความพร้อมของผู้เรียนสู่ตำแหน่ง CIO ขององค์กร ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ส่วนการดำเนินงานสร้างความสัมพันธ์ด้าน ICT กับต่างประเทศ กระทรวงฯ ได้ร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 11 รวมทั้งร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเร่งรัดในการจัดให้มีโครงข่ายทางด่วนสารสนเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ระยะที่ 2 และกระทรวงฯ ยังได้เข้าร่วมการประชุมต่างๆ ทั้งการประชุม GSMA Ministerial Programme 2012 การประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องการลดภัยพิบัติในภูมิภาคโทโฮคุ การประชุม World Economic Forum on East Asia (WEFEA) การประชุม The 8th Ministerial Forum during the Infocomm Media Business Exchange การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศ
นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN CIO Forum 2012 และการประชุม Policy and Regulatory Forum (PRF-12) รวมถึงการประชุมระดับโลกว่าด้วยตัวชี้วัดด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ค.ศ. 2012 (World Telecommunication/ ICT Meeting 2012 หรือ WTIM 2012) ระหว่างวันที่ 25 -27 กันยายน 2555 ที่จะถึงนี้อีกด้วย