กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 27-31 ส.ค. น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวลดลง 1.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 110.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 112.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง .82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 95.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 3.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 125.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 132.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- IEA ประกาศพิจารณาแนวคิดของ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกี่ยวกับการระบายน้ำมันสำรอง (Strategic Petroleum Reserve) เนื่องจากราคาน้ำมัน Gasoline ที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน EIA รายงาน ว่าในสองเดือนที่ผ่านมา (กรกฏาคมและสิงหาคม) น้ำมันสำรองโลก ยกเว้นอิหร่าน ลดลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Spare Production Capacity ของโลกอยู่ที่ระดับ 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติเนื่องจากมาตราการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เหตุนี้ทำให้ประธานาธิบดีโอบามาเห็นความสำคัญที่จะต้องปล่อยน้ำมันสำรอง เพื่อจะดึงราคาน้ำมันลง โดยในวันศุกร์สหรัฐฯ ระบายน้ำมันสำรอง 1 ล้านบาร์เรลให้แก่บริษัท Marathon Petroleum
- European Commission รายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนเดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ 86.1 จุด ลดลงจากเดือน ก.ค. ที่ 87.9 จุด
- กระทรวงพลังงานของรัสเซียรายงานยอดการผลิตน้ำมันดิบเดือน ส.ค. 55 เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 10.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 2534
- พนักงานในแท่นผลิตน้ำมันดิบของนอร์เวย์และนายจ้างสามารถบรรลุข้อตกลงการขึ้นค่าจ้างได้สำเร็จ หลีกเลี่ยงการประท้วงครั้งที่ 2
ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- กรมอุตุวิทยาของรัฐไมอามี่ในสหรัฐฯรายงานพายุโซนร้อน Isaac เพิ่มกำลังเป็นเฮอริเคน เคลื่อนตัวเข้าฟลอริด้าและมุ่งหน้าสู่ Gulf of Mexico ในต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้แหล่งผลิตน้ำมันในอ่าวแม็กซิโกซึ่งคิดเป็น 8.6% ของน้ำมันดิบสหรัฐฯ หยุดชะงัก ต้องปิดดำเนินการและส่งผลกระทบกับอุปทานในอ่าวเม็กซิโก 1.31 MMBD ทั้งนี้ยังทำให้การหาเสียง (National Convention) ของผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯ Mitt Romney ในรัฐฯฟลอริด้าต้องเลื่อนออกไป
- เกิดเหตุไฟไหม้ที่โรงกลั่น Amnuay ซึ่งอยู่ใน Paraguana Refining Complex ทางตอนเหนือของประเทศ Venezuela ทำให้เกิดความเสียหายต่อคลังเก็บน้ำมันสำเร็จรูปและมีผู้เสียชีวิต 50 ราย เหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ส่งผลกระทบ Gasoline/Naphtha 147 MBD, Jet 170 MBD และ Fuel Oil 133 MBD คาดการณ์ว่าโรงกลั่นต้องปิดซ่อมเป็นเวลา 1-2 เดือน
- อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.7% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 1.5%
- การเจรจาระหว่างอิหร่านและ International Atomic Energy Agency (IAEA) ประสบความล้มเหลว หลังอิหร่านยืมยันไม่ให้ IAEA เข้าตรวจโรงงานนิวเคลียร์ Parchin ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ทางการทหารอิหร่านเพิ่มเติม โดย IAEA รายงานล่าสุดว่าอิหร่านมียูเรเนียมไว้ในครอบครองเพิ่มขึ้น 31% อยู่ที่ระดับ 145 กิโลกรัม ในเดือน พ.ค. 55
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ภายหลังการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกเริ่มกลับมาดำเนินการหลังพายุ Isaac ผ่านพันไป ทางสหรัฐฯ ได้ปล่อยน้ำมันดิบจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรล ให้แก่บริษัท Marathon Petroleum เพื่อให้โรงกลั่นสามารถดำเนินการผลิตต่อได้ก่อนการกลับมาของการผลิตในอ่าว อีกทั้งแหล่งผลิตในนอร์เวย์สามารถหลีกเลี่ยงการประท้วงของพนักงานในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ ภายหลังนายจ้างและพนักงานสามารถบรรลุข้อตกลงค่าจ้างได้สำเร็จ ทำให้ความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบในย่านทะเลเหนือซึ่งใช้อ้างอิงต่อราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลง อย่างไรก็ตาม นาย Ben Bernanke ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) บ่งชี้ว่ายังคงเปิดทางให้กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีความพร้อมที่จะออกมาตรการเพื่อลดอัตราว่างงานของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 8.3% ในปัจจุบัน ทั้งนี้ประเทศเยอรมันและอิตาลียังคงคัดค้านการปล่อยน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ ตามความต้องการของประเทศสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส สะท้อนว่า IEA คงยังไม่มีการปล่อยน้ำมันสำรองดังกล่าวในเวลาอันใกล้ ในสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 113 และ 117 USD/BBL และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 94 และ 98 USD/BBL