กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ปี 55 และความพร้อมในการทดสอบระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า กทม.ได้เตรียมพร้อมเพื่อทดสอบระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ระหว่างวันที่ 5 และ 7 ก.ย. ซึ่ง กทม.พร้อมให้ความร่วมมือรัฐบาลในทุกด้าน อีกทั้งได้เตรียมพร้อมหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากมีการคาดหมายสภาพอากาศ 7 วันในช่วงระหว่างวันที่ 2-8 ก.ย.55 ว่า จะมีมรสมและฝนตกชุกหนาแน่นทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนตกทั่วไปถึงร้อยละ 70-90 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขณะเดียวกัน ในวันที่ 5 ก.ย. ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงในช่วงเช้า เวลา 09.15 น. ที่ระดับ 0.78 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และหนุนสูงอีกครั้งในเวลา 21.01 น. ที่ระดับ 0.98 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนวันที่ 7 ก.ย. ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงในช่วงเช้าเวลา 10.32 น. ที่ระดับ 0.71 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งในช่วงค่ำ เวลา 21.34 น. ที่ระดับ 0.93 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันตก
ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมพร้อมในการรับมือกับสภาพอากาศ รวมถึงเหตุฝนตกหนักและพายุลมแรงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการทดสอบระบบระบายน้ำ โดยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำไฟฟ้าแรงดันสูงและเรือผลักดันน้ำ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกบริเวณคลองลาดพร้าว คลองบางเขน และฝั่งตะวันตกบริเวณคลองพระยาราชมนตรี คลองทวีวัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ ฝั่งตะวันออก บริเวณคลองลาดพร้าว ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำไฟฟ้า 1 จุด บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต (ยาคูลท์) จำนวน 1 เครื่อง และบริเวณคลองลาดพร้าว ติดตั้งเรือผลักดันน้ำและเครื่องผลักดันน้ำไฟฟ้า 7 จุด ได้แก่ บริเวณตลาดยิ่งเจริญ จำนวน 2 ลำ ชุมชนก้าวหน้า (ประตูระบายน้ำเก่ากรมชลประทาน) จำนวน 2 ลำ ตลาดบางบัว จำนวน 2 ลำ เกษตร-นวมินทร์ จำนวน 1 ลำ 1 เครื่อง ประตูระบายน้ำลาดพร้าว 56 ฝั่งเหนือ จำนวน 2 ลำ 1 เครื่อง ประตูระบายน้ำลาดพร้าวฝั่งใต้ จำนวน 2 ลำ และบริเวณใต้ทางด่วนฉลองรัช จำนวน 2 ลำ
สำหรับพื้นที่ ฝั่งตะวันตก บริเวณคลองพระยาราชมนตรี ติดตั้งเรือผลักดันน้ำและเครื่องผลักดันน้ำไฟฟ้า 2 จุด ได้แก่ บริเวณตัดถนนพระราม 2 จำนวน 2 ลำ และสะพานพลูเฉลย (บางขุนเทียน) จำนวน 2 ลำ ส่วนบริเวณคลองทวีวัฒนา ติดตั้ง 6 จุด ได้แก่ บริเวณตัดถนนบรมราชชนนี จำนวน 2 ลำ หน้าวัดศาลาแดง จำนวน 2 ลำ บริเวณตัดถนนพุทธมณฑลสาย 3 จำนวน 2 ลำ บริเวณตัดถนนเพชรเกษม จำนวน 2 ลำ 2 เครื่อง บริเวณตัดถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ จำนวน 2 ลำ และปากคลองทวีวัฒนาตัดคลองภาษีเจริญ จำนวน 2 ลำ
เฝ้าระวังเหตุการณ์ผิดปกติเพื่อแก้ไขทันท่วงที
พร้อมกันนี้ กทม.ได้จัดทีมเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษ ในช่วงที่มีการทดสอบระบบระบายน้ำ โดยในวันที่ 5 ก.ย. ในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ได้จัดทีมเฝ้าระวังระดับน้ำในคลองทวีวัฒนา และควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำทวีวัฒนา เฝ้าระวังสภาพอากาศ และระดับน้ำทะเลหนุน ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการบริเวณคลองทวีวัฒนาตัดถนนเพชรเกษม ส่วนวันที่ 7 ก.ย. ซึ่งจะมีการทดสอบประสิทธิภาพน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออก ได้จัดทีมเฝ้าระวังสภาพอากาศ และระดับน้ำทะเลหนุน เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการบริเวณประตูระบายน้ำคลองสอง พร้อมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำในคลองสอง คลองบัว คลองลาดพร้าวตลอดแนว จนถึงอุโมงค์พระราม 9 และน้ำบางส่วนจะไหลไปทางคลองบางเขน ลงคลองเปรมประชากรที่บริเวณวัดเทวสุนทร แล้วสูบออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำคลองเปรมประชากร เนื่องจากสภาพคลองบางบัว คลองลาดพร้าว ขณะนี้ ยังไม่ได้รับการขุดลอก และพัฒนาระบบในการที่จะรับน้ำหลาก และมีปัญหาอุปสรรคเรื่องบ้านรุกล้ำเกือบตลอดแนวคลอง
ความคืบหน้าขุดลอกคลอง และแผนป้องกันน้ำท่วมเร่งด่วน
สำหรับแนวทาง มาตรการ และการเตรียมความพร้อมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร ระยะเร่งด่วน ปี 2555 นั้น กทม.ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล (กยน.) ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนงานที่กำหนด ประกอบด้วย งานซ่อมแซมแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์เดิมที่พังชำรุดเสียหายและเสริมความแข็งแรงของเขื่อนเดิม และงานเสริมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาคลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ และคันกั้นน้ำพระราชดำริด้านตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดวิกฤต จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ งานก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปลายซอยจรัญสนิทวงศ์ 74/1 บริเวณโรงฟอกหนัง และบริเวณอู่เรือหะริน งานเสริมความแข็งแรงบริเวณริมคลองบางกอกน้อยช่วงปากคลองบางกอกน้อยถึงปากคลองมหาสวัสดิ์ และงานก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองบางกอกน้อยบริเวณข้างสถานีดับเพลิงบางขุนนนท์ ซึ่งขณะนี้คืบหน้าแล้วร้อยละ 80 อีกทั้งงานเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ โดยการขุดลอกคูคลอง จำนวน 29 คลอง การติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแรงดันสูง การติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำดีเซล การติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดจุ่ม และการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำ นอกจากนี้กทม.ยังได้สร้างระบบเตือนภัย ได้แก่ การติดตั้งเครื่องวัดอัตราการไหลของน้ำ จำนวน 15 คลอง ทั้งนี้โครงการเร่งด่วนดังกล่าวจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย.-ต.ค.55 เพื่อให้พร้อมรับปริมาณน้ำในฤดูน้ำหลากที่จะถึงนี้
ขุดลอกคูคลองเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
ในส่วนของการขุดลอกคูคลองเร่งด่วน 29 แห่ง ซึ่งได้รับงบอุดหนุนจากรัฐบาล (กยน.) โดยกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบจำนวน 13 คลอง ความยาวประมาณ 60.4 กิโลเมตร คืบหน้าแล้วร้อยละ 92 อีกทั้งยังมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมดำเนินการ ได้แก่ กองบัญชาการทหารพัฒนา กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมความยาว 90.6 กิโลเมตร รวมผลงานทุกหน่วยได้ความยาวรวม คิดเป็นร้อยละ 86
นอกจากนี้ กทม.ยังได้เตรียมความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการป้องกันปัญหาน้ำท่วม ปี 55 โดยกำหนดแผนขุดลอกคู คลอง และล้างท่อระบายน้ำทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น การขุดลอกคู คลอง จำนวน 955 คลอง ความยาวประมาณ 1,648 กิโลเมตร โดยเป็นงบประมาณของกรุงเทพมหานคร จำนวน 638 คลอง ความยาว 781 กิโลเมตร และงบรัฐบาล จำนวน 317 คลอง ความยาว 867 กิโลเมตร ขณะนี้ผลการดำเนินงานคืบหน้าแล้วร้อยละ 90 ส่วนการล้างท่อระบายน้ำทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯ ความยาว 7,939 กิโลเมตร เป็นงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ความยาว 4,315 กิโลเมตร และงบรัฐบาล ความยาว 3,624 กิโลเมตร ขณะนี้ ผลงานคืบหน้าแล้วร้อยละ 91
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และสำนักการระบายน้ำจะประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำฝนและน้ำทะเลหนุนอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ย.55) เวลา 17.30 น. และในวันที่มีการทดสอบ (5 ก.ย.และ 7 ก.ย. 55) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะผู้บริหารจะร่วมติดตามสถานการณ์ประจำ ณ สำนักการระบายน้ำ กทม.2