กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันมูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท (LOXL06NA และ LOXL08NA) ของ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “BBB+” จากเดิม “BBB” โดยสะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากโครงสร้างทางการเงินที่ดีขึ้นและภาระดอกเบี้ยที่ลดลง รวมทั้งกระแสเงินสดจากการดำเนินงานซึ่งรวมเงินปันผลรับที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน การเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ตลอดจนการมีฝ่ายบริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ยาวนานทำให้บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจหลายประเภททั้งในด้านเทคโนโลยีและการค้าต่างๆ ทว่าจุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากอัตราส่วนผลกำไรที่ค่อนข้างต่ำโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจด้านการค้า และความผันผวนของรายได้ที่มาจากงานโครงการของภาครัฐ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรจากธุรกิจที่หลากหลายของบริษัท โดยที่การมีกระแสเงินสดจำนวนมากและสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีระดับโลกหลายแห่งจะช่วยให้บริษัทมีความได้เปรียบในการประมูลโครงการใหญ่ๆ ได้หลายโครงการในช่วง 3 -5 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทล็อกซเล่ย์ มีกระแสเงินสดที่เพียงพอมากยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2546 จากผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานรวมเงินปันผลรับที่เพิ่มขึ้นจาก 179 ล้านบาทในปี 2545 เป็น 597 ล้านบาทในปี 2546 ซึ่งทำให้อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานรวมเงินปันผลรับต่อเงินกู้รวมในปี 2546 เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจาก 5.7% ในปี 2545 เป็น 16.8% ในปี 2546 และบริษัทยังมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจาก 2.2 เท่าในปี 2545 เป็น 4.5 เท่าในปี 2546 เนื่องจากภาระดอกเบี้ยที่ลดลงจากการออกหุ้นกู้ซึ่งนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาว นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการที่กลุ่มบริษัทล็อกซบิท ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 14% ใน บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) มีมูลค่าทางการตลาดประมาณ 768 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 โดยปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในกลุ่มบริษัทล็อกซบิทในสัดส่วน 79%
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจโฮลดิ้งซึ่งประกอบด้วยธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม คือกลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยี และกลุ่มธุรกิจด้านการค้า โดยกลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีแบ่งออกเป็น 5 สายธุรกิจ ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ โครงสร้างพื้นฐาน สื่อสารโทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการอุปโภคและบริโภค และการพิมพ์ ส่วนกลุ่มธุรกิจด้านการค้านั้นเกี่ยวข้องกับเคมีภัณฑ์ สินค้าอุปโภคและบริโภค และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ด้วยประสบการณ์ยาวนานกว่า 60 ปี บริษัทได้วางรากฐานและรักษาสัมพันธภาพที่ดีทั้งกับลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย จุดแข็งที่สำคัญของบริษัทคือความชำนาญและประสบการณ์ของคณะผู้บริหารและพนักงานซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทในการประมูลงานโครงการต่างๆ
ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทได้แก่หน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ โดยลักษณะงานส่วนใหญ่ของกลุ่มลูกค้าหน่วยงานภาครัฐเป็นงานประมูล ดังนั้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทบางส่วนจึงขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของการประมูลงานและความสามารถในการบริหารโครงการของบริษัท ส่วนรายได้จากการขายสินค้าและบริการซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มธุรกิจด้านการค้า ตลอดจนธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการอุปโภคและบริโภค และบริการหลังการรับเหมาติดตั้งโครงการเริ่มแสดงสัญญาณฟื้นตัวภายหลังจากที่ตกลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2543 โดยในปี 2543 อยู่ที่ระดับ 4,476 ล้านบาท ในขณะที่เพียงไตรมาสแรกของปี 2547 มีถึง 1,596 ล้านบาท โดยรายได้จากการขายสินค้าและบริการมีสัดส่วน 60% ในปี 2546 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง
การชำระหนี้เงินกู้ในอดีตของบริษัทส่วนใหญ่พึ่งพากระแสเงินสดจากกิจการที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก แต่ในระยะ 5 ปีหลัง กระแสเงินสดส่วนใหญ่จะมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่น ตลอดจนเงินสดรับจากเงินปันผลที่บริษัทได้ลงทุนไว้ในระยะยาว โดยบริษัทได้รับเงินปันผลอย่างต่อเนื่องจากบริษัทหลายแห่ง เช่น บริษัท แอสแพค ออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บีเอชพี สตีล ไลสาจท์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ไทยไฟเบอร์ออพติคส์ จำกัด บริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท น้ำหวานลาว จำกัด เป็นต้น บริษัทหลักที่จ่ายเงินปันผลคือบริษัทแอสแพค ออยล์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อ “คาสตรอล” และ “บีพี” โดยจ่ายเงินปันผล 225.4 ล้านบาทให้แก่บริษัทในปี 2546 ทั้งนี้ หนี้สินของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยหนี้สินต่อทุนลดจากอัตราส่วนที่มากกว่า 100% ในปี 2543 ลงมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 38%-39% ในระหว่างปี 2546-2547 โดยคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของโครงสร้างทางการเงินเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง และจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจากการมีกระแสเงินสดที่มากขึ้นและลักษณะของนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังของบริษัท ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--