กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--ปตท.
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพโดยมีสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดการประชุมระดับนานาชาติด้านนวัตกรรมของสาหร่าย หรือ The 2nd Asia-Oceania Algae Innovation Summit (2ndAOAIS) ในหัวข้อ “สาหร่ายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2555 ณ โรงแรมรอยัลออคิดเชอร์ราตัน กรุงเทพฯ โดยความร่วมมือจากเครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท. หรือ THINK ALGAE) ซึ่งประกอบด้วย ปตท. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับการประชุมจะประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้แทนภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิจาก 11 ประเทศรวมกว่า 500 คน โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมอง องค์ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสาหร่าย รวมทั้งเสริมสร้างองค์ความรู้และติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆของการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายเป็นพลังงานทางเลือก อีกทั้งจะมีการอภิปรายในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และนโยบายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเป็นการขยายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการพัฒนาพลังงานทางเลือกและเชื้อเพลิงชีวภาพอีกด้วย นอกจากนี้ จะมีการนำเสนอผลงานนิทรรศการที่น่าสนใจของเทคโนโลยีชั้นสูงด้านการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายในรูปแบบของโปสเตอร์และการนำเสนอผลงานวิจัยล่าสุดโดยผู้เชี่ยวชาญและบริษัทที่ทำการวิจัยด้านสาหร่ายที่มีชื่อเสียงระดับโลก
นางรัตนาวลี อินโอชานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. กล่าวว่า ในวันที่ 5 กันยายน 2555 ผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 80 คน จะได้รับเชิญไปศึกษาดูงานศักยภาพการดำเนินงานวิจัย ณ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งดูงานระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายแบบต่อเนื่องเชิงพาณิชย์ ณ เทคโนธานี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
นางรัตนาวลี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมนี้นับเป็นครั้งที่ 2 สืบเนื่องจากความสำเร็จจากการประชุมครั้งแรกที่จัดขึ้น ณ เมือง ซุคุบา ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 โดยเป็นการประชุมวิชาการนานาชาติที่สำคัญยิ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีการพัฒนาสาหร่ายเพื่อผลิตน้ำมัน ภายใต้ไตรภาคีแห่งความร่วมมือของผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการจากนานาประเทศ โดยนำศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น สาหร่ายและพลังงานชีวภาพอื่นๆ ให้เกิดประโยชน์การใช้งานอย่างคุ้มค่า นำไปสู่การแก้ปัญหาพลังงานและภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืนต่อไป