พม. เดินหน้าปฏิบัติการ “พลังบวกสาม ภาครัฐ สื่อ และประชาสังคมเพื่อสตรีและครอบครัว” เพื่อจัดทำแผนรองรับบทบาทสตรีไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58

ข่าวทั่วไป Wednesday September 5, 2012 11:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--เจพี วัน คอนซัลแทนท์ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว หรือ สค. ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พลังบวกสาม ภาครัฐ สื่อ และประชาสังคมเพื่อสตรีและครอบครัว” โดยมีแนวคิดการประสานพลังของรัฐบาล ร่วมกับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ส่งผ่านความรู้ ข้อมูล ไปสู่กลุ่มสตรีและครอบครัว พร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาสังคม เพื่อนำไปวางกรอบนโยบาย และแก้ไขปัญหาสตรีและครอบครัวได้อย่างตรงจุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สตรีและครอบครัว เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 และผลักดันบทบาทสตรีไทยให้มีความทัดเทียมในทุกภาคส่วน และมีการยอมรับในมาตรฐานสากล นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญของสังคม โดยมีสตรีเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าผู้หญิงมีศักยภาพไม่ด้อยกว่าผู้ชาย จากการที่ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในแวดวงต่างๆ และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานทัดเทียมผู้ชาย เช่น เป็นนักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง ทหาร นักขับเครื่องบิน และอื่นๆ ซึ่งนโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คือ การส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง และการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง โดยรัฐบาลมีนโยบายการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการสร้างงานสร้างอาชีพ ฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพผู้หญิง และช่วยเยียวยาผู้หญิงที่ได้รับความเดือดร้อน สร้างโอกาสให้สตรีเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไป นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า ประโยชน์อีกประการในการจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อศึกษาศักยภาพและความพร้อมของสตรีในชุมชนต่างๆ สอบถามความต้องการความช่วยเหลือ เพื่อนำไปวางแผนนโยบายส่งเสริม และสนับสนุนศักยภาพสตรีรองรับประเทศไทยเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในมิติที่ 3 ด้านสังคมและวัฒนธรรม วางแผนจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งครอบคลุมในด้านการพัฒนามนุษย์ ความคุ้มครองและสวัสดิการสังคม ความยุติธรรมและสิทธิความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน การแข่งขันทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านอาชีพ แรงงาน สิทธิของสตรีในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการบริการ “กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พิจารณาว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการแข่งขัน คือ การรักษาอัตลักษณ์ หรือวัฒนธรรมอันเป็นจุดเด่นของประเทศไทย ทั้งในด้านภูมิปัญญาของคนไทย สินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย ดังนั้น เพื่อการเตรียมพร้อมสตรีไทยให้ต่อสู้กับการแข่งขันเมื่อเปิดประเทศสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงมุ่งเน้นมอบความรู้ให้กับสตรี และครอบครัว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และปรับตัวให้สตรีไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในอนาคตโดยไม่ละทิ้งจุดเด่นด้านวัฒนธรรมความเป็นไทย” นายวิเชียร กล่าวสรุป นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พลังบวกสาม ภาครัฐ สื่อ และประชาสังคมเพื่อสตรีและครอบครัว” มีแนวคิดในการดำเนินกิจกรรมคือ ต้องการเข้าถึงประชาชน รับทราบถึงปัญหาที่แท้จริงในการนำมาปฏิบัติวางกรอบนโยบายได้อย่างตรงจุด ต้องการรับทราบมุมมองของสื่อมวลชน อันเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่ช่วยในขับเคลื่อนบทบาทของกลุ่มสตรีไทยในอนาคต และยังเป็นกลุ่มมวลชนที่ได้รับทราบถึงความต้องการที่หลากหลาย จากทุกภาคส่วน ต้องการให้ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อเท็จจริงนำไปปฏิบัติ วางกรอบนโยบายในการพัฒนาบทบาทสตรี ส่งเสริมฐานรากของสังคมคือ สถาบันครอบครัว แก้ไขปัญหาในส่วนของสตรีในสังคมไทย ทั้งความเท่าเทียม ยกระดับขีดความสามารถของสตรีไทย ปัญหาด้านแรงงานสตรีไทย เป็นต้น “โดยครั้งนี้ เราจึงได้วางกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้น คือ กิจกรรมแรลลี่ลงพื้นที่ เพื่อรับทราบถึงปัญหาของชุมชน รับข้อเสนอแนะจากประชาชน ตั้งแต่ รับทราบถึงปัญหาของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่สมุทรสงคราม และปัญหาแรงงานของเด็กที่อายุ 9 — 15 ปี ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องให้ความใส่ใจ ซึ่งหากมีการละเลยในปัญหาดังกล่าวประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อาจถูกมองถึงไม่ดำเนินการตามกฎกติกามาตรสากล ในเรื่องของเด็กและสตรีตามไปด้วย อีกทั้งยังได้รับทราบถึงปัญหาของความปลอดภัยในการทำงาน การล่วงละเมิดทางเพศของกลุ่มเด็กและสตรีในพื้นที่อีกด้วย ส่วนของอัมพวารับทราบถึงปัญหา สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่อาศัยในชุมชนแห่งนี้ ยังขาดองค์กรหรือหน่วยงานที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้มีอาชีพทำกิน เพราะพื้นที่นี้มีอาชีพหลักคือการทำประมง ดักปูแสม เลี้ยงปู กุ้ง และปลา มีการวางอวนในแม่น้ำลำคลอง และหมู่บ้านแห่งนี้ก็ติด 1 ใน 8 ของหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว ฉะนั้นทาง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เห็นว่าน่าจะเข้าไปช่วยส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กลุ่มสตรีและชาวชุมชนหมู่บ้านต้นลำแพน นับเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเปิดใหม่ เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยมีผลิตภัณฑ์โอทอปที่ขึ้นชื่อก็คือ ปูแสมดองเค็ม ที่ทำรายได้ให้คนในชุมชนแห่งนี้มายาวนาน กลุ่มเสริมอาชีพสตรีพัฒนาบ้านหนองปรง (อีร่า) จังหวัดเพชรบุรี เป็นชุมชนที่ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากไทยทรงดำเป็นชุมชนเล็กๆอยู่ในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรีและชุมชนนี้มีกิจกรรมเด่นๆ ที่น่าสนใจ คือชุมชนนี้ได้ก่อตั้งกลุ่มเสริมอาชีพสตรีพัฒนาบ้านหนองปรง และใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มว่า อีหล้า (E-LA) เพื่อการส่งเสริมรายได้ และสร้างโอกาสของกลุ่มสตรีแม่บ้านหนองปรุง ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดครัวเรือน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่สกัดจากธรรมชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย ได้คัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP และได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในปัจจุบันยังขาดการผลักดันสู่ตลาดสากล ซึ่งทางกลุ่มเสริมอาชีพสตรีพัฒนาบ้านหนองปรง ต้องการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาดูแล และช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้ออกสู่ตลาดสากลเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะได้มีรายได้นำมาพัฒนาชุมชน และส่งเสริมอาชีพของกลุ่มสตรีต่อไปอย่างยั่งยืน นายสมชาย กล่าวอีกว่า งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พลังบวกสาม ภาครัฐ สื่อ และประชาสังคมเพื่อสตรีและครอบครัว” เพื่อรับทราบถึงปัญหาต่างๆ ความต้องการของสตรีในส่วนของภาคประชาชน รับทราบความต้องการของสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ภาครัฐที่มีหน้าที่ในการนำไปปฏิบัติโดยตรง คือ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นำไปแก้ไขได้รับความสนใจจากสตรีในชุมชนต่างๆ กว่า 6 จังหวัด อาทิ เพรชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาครนครปฐม ราชบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมในครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 500 คน โดยคณะตัวแทนชุมชน สื่อมวลชนเสนอแนะปัญหา และร่วมแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อสนับสนุนศักยภาพสตรี และสถาบันครอบครัว หลากหลายข้อคิดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระเบียบข้อกฎหมายที่ต้องการให้เอื้อประโยชน์ต่อสตรีอย่างแท้จริง ปัญหาการส่งเสริมด้านแรงงานในพื้นที่ของกลุ่มสตรี การเปิดกว้างยอมรับในภาคสังคมในแง่มุมต่างๆ กรอบแนวคิดของคำว่า “สิทธิ” และ “หน้าที่” ของสตรีไทยคืออะไร ในงานสัมมนาดังกล่าวกลุ่มสตรีที่ได้เข้าร่วมยังได้เพิ่มองค์ความรู้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของบทบาทสตรีต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตอันใกล้อีกด้วย นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การพัฒนาที่เกิดความทัดเทียมในระดับสากล พร้อมรับสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในอนาคต เราต้องให้ความสำคัญต่อบทบาทของสตรีไทยในอนาคตอย่างจริงจัง ผู้หญิงจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมอย่างต่อเนื่อง นับจากวันนี้เรื่องราวของผู้หญิง บทบาทของสตรีไทยจะแตกต่างออกไปจากในอดีต เพียงแต่สังคมต้องเปิดใจยอมรับ ทุกภาคส่วนต้องหันมาให้ความใส่ใจในบทบาทของผู้หญิงที่สามารถทำอะไรได้มากว่าที่หลายคนคิด วันนี้ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ถือเป็นหน่วยงานที่สนองในเรื่องนโยบายการดำเนินงาน พร้อมที่วางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาบทบาทสตรีไทยให้เกิดการยอมรับอย่างยั่งยืนในสังคม เกิดการยอมรับในกฎกติกาการยอมรับในมาตรสากล ข้อมูลอ้างอิง ในสัดส่วนของสตรีไทยในปัจจุบัน ปัจจุบันผู้หญิงในบ้านเราโดยรวมมีระดับการศึกษาเหนือกว่าเพศชาย อัตราการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานมีเพิ่มมากขึ้น โดยในประเทศไทยนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ชาย 100 คน จะมีผู้หญิงทำงาน 80 คน สัดส่วนผู้หญิงในวงธุรกิจและการเมืองก็เพิ่มสูงขึ้น ในประเทศไทยคิดเป็นผู้หญิง 39 คนต่อผู้ชาย 100 คน แต่สำหรับในประเทศในกลุ่มอาเซียนอาจจะพบตัวเลขที่สูงกว่าบ้านเรามาก เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ 192 : 100 สิงคโปร์ 65.5 : 100 มาเลเซีย 58.7 : 100 ด้านสัดส่วนตัวเลขของผู้ประกอบการของผู้หญิงเมื่อเทียบกับผู้ชายในประเทศไทยคือ 38.5 : 100 และโอกาสในการทำงานมีค่าอินเด็กซ์ผู้หญิงต่อผู้ชายอยู่ที่ 95.2 : 100

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ