กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--ไอแอมพีอาร์
การพัฒนาระบบคมนาคมอย่าง “รถไฟฟ้า” ได้นำพา “โอกาส” ในการพัฒนาธุรกิจด้านต่างๆ เข้ามายังพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางที่ผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบคมนาคมในพื้นที่เขตเมืองเก่า ได้ก่อให้เกิดแรงจูงใจของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในการเข้ามาพัฒนาโครงการธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ดังที่ได้เกิดขึ้นกับ “เยาวราช” และ “เวิ้งนาครเขษม” ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ชุมชนปากคลองตลาด” เป็นย่านการค้าเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน กำลังจะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอันเนื่องมาจากรถไฟฟ้าเช่นเดียวกัน เนื่องจากบริษัทเอกชนผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ได้ทุ่มงบประมาณนับร้อยล้านบาทเพื่อปรับโฉม “ตลาดยอดพิมาน” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของตลาดที่ประกอบรวมกันเป็นย่านการค้าที่เรียกว่า “ปากคลองตลาด” ให้กลายเป็นอาณาจักรดอกไม้กล้วยไม้นานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และรองรับสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เร่งก่อสร้างอยู่ในขณะนี้
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. ได้จัดเสวนา “Living Museum : พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชุมชนปากคลองตลาด ครั้งที่ 1” ขึ้น เพื่อเรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน โดยการเรียนรู้ชุมชนโดยรอบทางภูมิสังคมวัฒนธรรม และรู้เท่าทันถึงความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อวิถีของชุมชนในอนาคต โดยมีนางสาวสุดารา สุจฉายา นักประวัติศาสตร์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, นายวันชัย อินทคุณจินดา ที่ปรึกษาตลาดเก่าปากคลองตลาด, อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “ปากคลองตลาด ตลาดดอกไม้แห่งอาเซียน” และดำเนินรายการโดยผศ.ดำรงพล อินทร์จันทร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผศ.ดำรงพล อินทร์จันทร์ นักวิชาการจาก “โครงการวิจัยชุมชนโดยรอบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ แห่งที่1 (ชุมชนท่าเตียน-ปากคลองตลาด)” ที่ทาง สพร. จัดทำขึ้นในปี 2549 ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันปากคลองตลาดเป็นตลาดดอกไม้ที่มีชื่อเสียงติดอันดับ 1 ใน 10 ของตลาดดอกไม้โลก โดยอยู่ในลำดับที่ 4
“อันดับ 1 เป็นตลาดดอกไม้ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส อันดับ 2 คือประเทศเอกวาดอร์ อันดับ 3 คือกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และอันดับที่ 4 คือปากคลองตลาด หรือที่ถูกเรียกขานว่า Bangkok Orchid Market โดยข้อมูลระบุว่าตลาดแห่งนี้มีจุดเด่นและเอกลักษณ์อยู่ตรงที่การเป็นตลาดดอกไม้ 24 ชั่วโมง และเป็นตลาดที่มีความสัมพันธ์กับชุมชน มีความเชื่อมโยงกับเยาวราช และใช้การสัญจรหรือคมนาคมทางน้ำ” ผศ.ดำรงพล กล่าว
นางสาวสุดารา สุจฉายา เล่าว่าพื้นที่นี้เดิมเป็นเมืองหน้าด่านในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีการขุดคูเมืองเดิมขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี ทำให้ย่านปากคลองคูเมืองเกิดเป็นตลาดขึ้น แต่ความเป็นมาของปากคลองตลาดชัดเจนเกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อได้ย้ายตลาดเดิมจากย่านท้ายวังมาสร้างเป็น “ตลาดองค์การตลาด”
“ในอดีตจุดค้าขายไม้ดอกไม้ประดับ อยู่ริมคลองคูเมืองเดิมหรือคลองหลอดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตลาดนัดสนามหลวงเดิม เมื่อตลาดนัดสนามหลวงถูกยกเลิกไป ตลาดดอกไม้จึงได้ย้ายไปอยู่ริมคลองบริเวณปากคลองตลาด และมีการขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน” น.ส.สุดารา กล่าว
นายวันชัย อินทคุณจินดา ชาวปากคลองตลาดรุ่นที่สามที่ได้สืบทอดอาชีพค้าขายต่อจากบรรพบุรุษ เล่าถึงการพัฒนาและเอกลักษณ์ของการค้าการขายในตลาดแห่งนี้ว่า เมื่อเกิด “ตลาดองค์การตลาด” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ตลาดเก่า” ในครั้งแรกไม่ค่อยมีคนอยากมาขาย แต่เมื่อตลาดท่าเตียนซบเซา การค้าที่นี่จึงเริ่มคึกคักมากขึ้นถึงขั้นกลายเป็นความแออัด จนเกิดเป็น “ตลาดยอดพิมาน” และ “ตลาดส่งเสริมเกษตรไทย” ขึ้นมาในภายหลัง
“คำว่าปากคลองตลาดเป็นคำเรียกรวมพื้นที่ตลาดทั้ง 4 แห่งที่เชื่อมโยงติดต่อกัน โดยรวมไปถึงตลาดบริเวณสะพานพุทธด้วย การค้าในปัจจุบันเรียกได้ว่ามีผู้ค้าหนาแน่น เปิดขายตลอด 24 ชั่วโมง หนึ่งแผงค้าแบ่งเป็นผู้ขาย 2 รอบ เมื่อตลาดแออัดประกอบกับเกิดการขยายตัวของตลาดค้าส่งด้านนอกเมือง บทบาทของปากคลองซึ่งเป็นแหล่งค้าส่งผักและผลไม้จึงน้อยลง แต่ผู้ซื้อและผู้ขายกลับไม่ได้ลดตาม และยังสามารถปรับตัวจนกลายเป็นตลาดค้าปลีกที่ได้เชื่อมโยงสินค้าไปสู่ตลาดเล็กๆ ในพื้นที่ชั้นในของกทม. สำหรับตลาดดอกไม้เดิมก็ขายอยู่ริมถนน และกลับมีผู้ค้าดอกไม้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กลายเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก ในฐานะตลาดดอกไม้ที่แปลกกว่าที่ใดในโลกคือ ขายกลางถนน และขายกันตลอดเวลาไม่มีเวลาหลับ” นายวันชัยระบุ
นักวิชาการภูมิสถาปัตย์ อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ได้กล่าวถึงรูปแบบของโครงการพัฒนาพื้นที่ของตลาดยอดพิมาน ด้วยการปรับปรุงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ทั้งหมดว่า จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางวัฒนธรรม และการใช้สอยในพื้นที่ เพราะเมื่อเกิดการปรับเปลี่ยนทางกายภาพ วิถีชีวิตและรูปแบบการค้าเดิมก็จะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายการปรับปรุงตลาดให้เป็นแบบตลาดดอกไม้ในต่างประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว จำเป็นต้องทบทวนอย่างยิ่งว่านักท่องเที่ยวต้องการพบเห็นอะไร เอกลักษณ์ของปากคลองตลาดคืออะไร อะไรคือเนื้อแท้และเสน่ห์ของปากคลองตลาด ซึ่งการเข้าใจแก่นที่แท้จริงของพื้นที่จึงจะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีและยั่งยืน
จะเห็นได้ว่าผู้ร่วมเสวนาทุกฝ่ายล้วนเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการพัฒนาควรตั้งอยู่บนพื้นฐานหรือวิถีดั้งเดิมของชุมชน ควรอนุรักษ์ในสิ่งที่เป็นเสน่ห์ เอกลักษณ์ และวิถีชีวิตของคนปากคลองตลาด เพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของตลาดแห่งนี้เกิดขึ้นจากการเป็นย่านการค้าขายที่สำคัญ มิใช่จากการท่องเที่ยว
“ทุกวันนี้ชุมชนทุกแห่งที่มีรถไฟฟ้าเข้าไป กำลังประสบปัญหาเดียวกับปากคลองตลาด เพราะการพัฒนาด้านการคมนาคมที่เข้าไปในตัวเมืองเก่า ได้ทำให้เกิดแรงจูงใจกับนักลงทุน เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ที่ไม่ได้คำนึงถึงคนในพื้นที่ จะส่งผลให้คนที่มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความผูกพันกับพื้นที่ต้องหลีกหนีออกไปจากชุมชนเดิมเพราะไม่สามารถสู้กับทุนใหม่ที่เข้ามาได้ ทำให้ชีวิตและจิตวิญญาณของความเป็นเมืองสูญหายไปด้วย” นางสาวสุดารา สุจฉายา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ระบุ
ด้าน นางจิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษา สพร. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้จะได้เพียงฉากหน้าของความสวยงามแต่ไร้ซึ่งวิถีชีวิต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือพื้นที่สนามหลวงซึ่งถูกล้อมรั้วในปัจจุบัน
“ตลาดเป็นสถานที่ค้าขายของชุมชน ไม่ใช่สถานที่ๆ จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ถ้ามีการพัฒนาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจริง เสน่ห์ของปากคลองตลาดจะหายไป วิถีชุมชนที่เคยมีก็จะหายไปเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องมาทบทวนใหม่ว่า การใช้รูปแบบของตลาดในต่างประเทศมาเป็นบรรทัดฐานในการพัฒนาตลาดของไทยนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวคือผลพลอยได้เท่านั้น” นางจิระนันท์กล่าวสรุป
สำหรับโครงการเสวนา Living Museum : พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชุมชนปากคลองตลาด ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “วิถีใหม่ปากคลองตลาด@สถานีสนามไชย” มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2555 โดยในงานเสวนาจะกล่าวถึงกรณีศึกษาเทียบเคียงปากคลองตลาดกับตลาดสามย่าน และตลาดนางเลิ้ง ในบริบทของการพัฒนาตลาดเก่าและวิถีชุมชนเมืองกับการพัฒนาตลาดเก่าในกรุงเทพฯ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ผู้สนใจเข้าร่วมเสวนาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-225-2777 ต่อ 404 หรือ www.facebook.com/museumfan และ www.museumsiam.com