กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.....เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานวิปรัฐบาล และประธานวิปฝ่ายค้าน ซึ่งขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานสรุปผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อเสนอให้บรรจุไว้ในระเบียบวาระสภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงมีความเห็นที่สำคัญหลายประเด็นคือ ควรกำหนดบทบาทให้องค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรเอกชนอื่นใด ซึ่งได้รับรองจากคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ สามารถเรียกร้องแทนคนพิการ ให้ความช่วยเหลือ จัดให้มีศูนย์บริการ เสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐ ตลอดจนให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนสนับสนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรด้านคนพิการ หรือองค์กรเอกชนในแต่ละท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
สำหรับกรณีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ คปก. มีความเห็นว่า ควรจัดตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารการลงทุน ที่มีการจัดการบริหารการลงทุนที่มีการบริหารกองทุนที่สอดรับกับการกระจายภารกิจการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรเอกชน และควรมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารกองทุนหรือคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติกำหนด โดยไม่ต้องเสนอคำขออนุมัติต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติพิจารณาทุกกรณี
ในแง่การคุ้มครองคนพิการในการทำงานและประกอบอาชีพ คปก.เสนอว่า ในกรณีที่นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานรัฐรายใดไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงาน แต่ประสงค์จะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯหรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการ ควรได้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการก่อน นอกจากนี้ควรบัญญัติเพิ่มเติมเรื่องการสร้างงานให้แก่องค์กรด้านคนพิการด้วย
อย่างไรก็ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้มีความต้องการเพื่อการสร้างงานให้แก่คนพิการในรูปแบบต่างๆ แต่การมีบทบัญญัติเรื่องจัดจ้างเหมาช่วงงานตามมาตรา 35 นั้น คปก.มีความกังวลว่าในประเด็นปัญหาความไม่เป็นธรรมในสัญญาจัดจ้างเหมาช่วงงานที่อาจจะไม่สร้างความมั่นคงในการทำงานให้กับคนพิการ จึงขอเสนอให้ตัดเรื่องการจัดจ้างเหมาช่วงงานออกจากมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับการเรียกร้องการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อแรงงานในภาพรวมของประเทศและเปิดโอกาสให้นายจ้างได้ใช้ทางเลือกอื่นที่สมเหตุสมผลและมีความเป็นธรรมตามหลักการและเหตุผลของการร่างกฎหมายฉบับนี้
ขณะเดียวกันคปก.มีความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่หนึ่งในการวินิจฉัยและมีคำสั่งเพิกถอนการกระทำหรือห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ แต่เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการฯดังกล่าวมีนายกเป็นประธาน และปลัดกระทรวงต่างๆเป็นกรรมการทำให้การประชุมของคณะกรรมฯไม่คล่องตัว คปก.เห็นว่าควรกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบ ไกล่เกลี่ย ประนีประนอม วินิจฉัย ติดตามและเสนอแนะการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ
ติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔