กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--บลจ.ไอเอ็นจี
บลจ.ไอเอ็นจี เดินหน้าจ่ายเงินปันผลผู้ถือหน่วยพร้อมกัน 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไอเอ็นจีไทยบาลานซ์ฟันด์ จ่ายเงินปันผลครั้งที่ 2 ของปี 2555 ในอัตรา 0.460 บาทต่อหน่วย ส่วน 2 กองทุนที่เพิ่งเปิดในปีนี้ เริ่มจ่ายเงินปันผลครั้งแรก กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย มิกซ์ 15/85 ปันผล อัตรา 0.145 บาทต่อหน่วย และกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เอเชี่ยน เดบท์ รีจินอล บอนด์ ปันผล อัตรา 0.121 บาทต่อหน่วย ระบุวางเป้าหมายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง รวมถึงความตั้งใจบริหารทุกกองทุนเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีให้กลับผู้ถือหน่วย
นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน จำนวน 3 กองทุน เพื่อกำหนดอัตราจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายในวันที่ 12 กันยายน 2555 ประกอบด้วย “กองทุนเปิดไอเอ็นจีไทยบาลานซ์ฟันด์” จ่ายเงินปันผลครั้งที่ 21 จากผลการดำเนินงานวันที่ 1 กุมภาพันธ์ถึง 31 กรกฎาคม 2555 ในอัตรา 0.460 บาทต่อหน่วยลงทุน นับเป็นการจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 2 ของปีนี้ หากคิดแล้วกองทุนได้จ่ายเงินปันผลรวม 0.96 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็น 9.6% หากคิดจากมูลค่าราคา Par 10 บาท ซึ่งผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี — 31 สิงหาคม 2555 กองทุนมีผลตอบแทนอยู่ที่ 19.45% สูงกว่าดัชนีเปรียบเทียบที่ 10.81%
พร้อมกันนี้ 2 กองทุนน้องใหม่ที่เปิดเสนอขายในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สามารถบริหารกองทุนได้ผลตอบแทนได้ดี ทำให้กองทุนสามารถจ่ายเงินปันผลครั้งแรกได้ ได้แก่ “กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย มิกซ์ 15/85 ปันผล” จ่ายเงินปันผลครั้งที่ 1 จากผลการดำเนินงานวันที่ 11 เมษายน ถึง 31 กรกฎาคม 2555 ให้แก่ผู้ถือหน่วยในอัตรา 0.145 บาทต่อหน่วยลงทุน โดยมีผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 2.44% เทียบกับดัชนีเปรียบเทียบที่ 2.18%
ในขณะที่ “กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เอเชี่ยน เดบท์ รีจินอล บอนด์ ปันผล” จ่ายเงินปันผลครั้งที่ 1 จากผลการดำเนินงานวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ถึง 31 กรกฎาคม 2555 ให้แก่ผู้ถือหน่วยในอัตรา 0.121 บาทต่อหน่วยลงทุน โดยกองทุนดังกล่าวมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ คือ กองทุน ING (L) Renta Fund Asia Debt (Local Bond) ที่มีนโยบายการกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารตลาดเงินและเงินฝากของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 4.40% เทียบกับดัชนีเปรียบเทียบที่ 1.73%
“ที่ผ่านมา บลจ.ไอเอ็นจี มีความตั้งใจในการดำเนินงานให้ออกมาอย่างดีที่สุดและสม่ำเสมอในทุกกองทุนที่บริหารเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนกลับมาให้กับผู้ถือหน่วยตามที่ได้กำหนดไว้และครั้งนี้ก็เช่นกัน บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยพร้อมกัน 3 กองทุน จากผลการดำเนินงานที่โดดเด่นของแต่ละกองทุน โดยทั้ง 3 กองทุนนี้จุดเด่นอยู่ที่นโยบายการลงทุนคือ กองทุนเปิดไอเอ็นจีไทยบาลานซ์ฟันด์ เป็นกองทุนผสมโดยลงทุนในหุ้นในสัดส่วนระหว่าวง 65%-35% ในขณะที่กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย มิกซ์ 15/85 ปันผล มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 15% เน้นการเติบโตอย่างมั่นคงจากการปรับพอร์ตการลงทุน (Portfolio Rebalancing) ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกลงทุนได้ตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะกับตัวลูกค้าเอง ส่วนกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เอเชี่ยน เดบท์ รีจินอล บอนด์ ปันผล เป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชีย เหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้และต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่ดี ทั้งนี้ เราเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถบริหารกองทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดี และสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอให้กับลูกค้าของ บลจ.ไอเอ็นจี” นายจุมพล กล่าว
ผลตอบแทนย้อนหลัง (ณ 31 สิงหาคม 2555) YTD 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี นับแต่จังตั้งกองทุน
กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย บาลานซ์ฟันด์ 19.45% 6.95% 8.40% 19.76% 63.06% 78.98% 380.07%
50% SET Index + 25% ThaiBMA Government Bond Index + 25% เงินฝากประจำ 1 ปีเฉลี่ย 3 ธนาคาร 10.81% 5.97% 3.89% 9.92% 43.95% 40.42% 131.88%
กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย มิกซ์ 15/85 ปันผล - 2.44% - - - - 2.25%
10% SET Index + 45% ThaiBMA Government Bond Index + 45% เงินฝากประจำ 1 ปีเฉลี่ย 3 ธนาคาร - 2.18% - - - - 2.49%
กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เอเชี่ยน เดบท์ รีจินอล บอนด์ ปันผล - 4.40% 0.65% - - - 1.02%
HSBC’s Asian Local Bond Index - 1.73% 2.69% - - - 1.46%
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เอเชี่ยน เดบท์ รีจินอล บอนด์ ฟันด์ อาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) ตามความเหมาะสมและสภาวการณ์ในแต่ละขณะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจที่ผู้จัดการกองทุนเห็นว่าเหมาะสม เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจะเกิดขึ้นได้จากการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนของกองทุนนี้ขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้