ช่วยต่อเวลาให้ชีวิต...ไม่สิ้นสุด พลิกชีวิตผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด มูลนิธิรามาธิบดีฯ ชวนร่วมบริจาคสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้น

ข่าวทั่วไป Thursday September 6, 2012 13:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--Public Hit จากผู้ป่วยที่ต้องนอนรอความตายด้วยโรคที่มีความผิดปกติของระบบเม็ดเลือด และโรคทางพันธุกรรม อาทิ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกฝ่อ โรคพันธุกรรมธาลัสซีเมีย และ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด ซึ่งล้วนเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาหาย ทั้งยังต้องรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด หรือให้เลือดเพื่อประคับประคอง ไม่ให้มีอาการรุนแรงขึ้น แต่ด้วยความก้าวหน้าทางแพทย์มีมากขึ้น ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน เมื่อ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เริ่มรักษาโดยการปลูกถ่ายไขกระดูกให้แก่ผู้ป่วยเป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.2532 ทำให้พลิกชะตาชีวิตผู้ป่วยจากที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับการรักษาไปตลอดชีวิต มาเป็นหายขาดจากโรคดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของคณะแพทยศาสตร์ฯ ให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตระหนักเห็นความสำคัญว่า “การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต” เป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน และมีผลที่แน่นอน คนไข้มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าร้อยละ 90 และตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไปแล้วกว่า 600 คน ผ่านศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด จึงเชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมบริจาคสมทบทุนโครงการสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี อันประกอบด้วย ศูนย์ปลูกถ่ายตับ ศูนย์ปลูกถ่ายไต และศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในต้นปี 2556 ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง รองประธานโครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดฯ เผยถึงข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ว่ามีความสำคัญต่อผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับโรคร้ายที่รักษาไม่หาย รวมทั้งประโยชน์ของโครงการศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะที่มีวิทยาการทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าและทันสมัย มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น “การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกามา 40 กว่าปีแล้ว ส่วนของไทยเริ่มมา 20 กว่าปีได้ ไขกระดูกเป็นส่วนที่อยู่ตรงกลางของกระดูก มีลักษณะเป็นของเหลวและเป็นแหล่งกำเนิดของเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ในไขกระดูกจะมีเซลล์เม็ดเลือดจำนวนมากมายหลายชนิด เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือ สเต็มเซลล์ เป็นเซลล์ตัวอ่อนที่มีความสามารถในการแบ่งตัวเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด นอกจากนี้ยังพบได้ในเลือดจากสายรก แต่มีจำนวนน้อยกว่าในไขกระดูก “การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือการปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นการรักษาโดยการนำเอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตของผู้อื่น หรือของตนเองที่เก็บไว้มาใช้รักษาโรคต่างๆ สมัยก่อนเราจะใช้ไขกระดูกเพียงอย่างเดียวในการปลูกถ่าย แต่ปัจจุบันเมื่อพบว่าในเลือด และในเลือดจากสายสะดือรกมีเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตอยู่ด้วย จึงนำมาทั้งหมดมาใช้เพื่อการรักษา โดยเรียกว่า การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต” ศ.นพ.สุรเดช กล่าว ทุกวันนี้มีผู้ป่วยในประเทศไทยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตประมาณปีละ 700-1,000 คน แต่มีการรองรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต่างๆ ได้เพียงปีละร้อยกว่าคนเท่านั้นเนื่องจากสาเหตุต่างๆ อาทิ เพราะหาเซลล์ต้นกำเนิดที่ตรงกันกับผู้ป่วยไม่ได้ ขาดทุนทรัพย์ในการปลูกถ่ายซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านบาทต่อ 1คน แต่ผู้ป่วยสามารถหายป่วยจากโรคเมื่อได้รับการปลูกถ่ายเพียงครั้งเดียวเท่านั้น รองประธานโครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดฯ กล่าวเสริมว่า การสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จะเป็นการรวมรวมศูนย์ปลูกถ่ายทั้งตับ ไต และเซลล์ต้นกำเนิด ที่เดิมทีอยู่ตามแผนกและชั้นต่างๆ ของโรงพยาบาลมารวมอยู่ที่เดียวกัน ทำให้เป็นศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะที่ครบวงจรแห่งแรกของเมืองไทย ทำให้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำงานร่วมกัน และรักษาคนไข้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดที่ทัดเทียมต่างประเทศ โดยเฉพาะทางสหรัฐอเมริกา และทางยุโรป เลยทีเดียว ที่สำคัญคือ เป็นการสร้างนวัตกรรมที่ทันสมัยสู่ประชาชนชาวไทย และยังนำความรู้ไปสู่ประเทศอื่นได้ ตอนนี้ที่รพ.รามาธิบดี ทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดให้ผู้ป่วยได้ปีละ 30 ราย แต่ถ้าศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดปรับปรุงเสร็จแล้ว เปิดครบทั้ง 10 ห้อง ก็สามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 70 ราย “ที่ผ่านมาคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มีการปลูกถ่ายมากกว่า 2 อวัยวะให้แก่ผู้ป่วยหนึ่งราย เช่น มีการปลูกถ่ายตับ และไต ในคนเดียวกันไปถึง 4 รายแล้ว หรือมีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด และไต ด้วยกัน การสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ นับว่าเป็นเรื่องที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ ซึ่งถ้าเขาไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับ หรือ ไต เขาก็จะเสียชีวิต หรือต้องทนทรมาน มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีเลย และยังต้องเสียค่าดูแลรักษาพยาบาลไปอีกตลอดชีวิต แต่การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพียงครั้งเดียวสามารถคืนชีวิตใหม่ให้แก่ผู้ป่วยได้” คุณหมอสุรเดช ทิ้งท้ายไว้ว่า การสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ รวมถึงศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ไม่ได้มีจุดประสงค์แค่การรักษาคนไข้เท่านั้น แต่ในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลของรัฐ จึงเหมือนเป็นของคนไทยทุกคนด้วย การเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมบริจาคสมทบทุนจึงเหมือนการมีส่วนช่วยกันรักษาสมบัติของคนไทยทุกคน เพื่อวันข้างหน้าหากผู้ใดเจ็บป่วย ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ ช่วยต่อเวลาให้ชีวิต...ไม่สิ้นสุด ร่วมบริจาคสมทบทุน สร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ศูนย์ปลูกถ่ายตับ ศูนย์ปลูกถ่ายไต เพื่อให้ผู้ป่วยที่เป็นโรค ธาลัสซีเมีย โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไตวาย โรคตับวายระยะสุดท้าย ฯลฯ มีชีวิตยืนยาวขึ้นได้ โดยการบริจาคสบทบทุนผ่านบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี (โครงการสร้างศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี เลขที่ 026-2-50740-8, ธนาคารกรุงเทพ สาขาอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ (รพ.รามาธิบดี) เลขที่ 090-7-00123-4 มูลนิธิรามาธิบดีฯ 270 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 www.ramafoundation.or.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2201-1111

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ