กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น
"อารักษ์" โชว์ผลงานหนึ่งปี บริหารจัดการราคาน้ำมันช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน ตรึงราคาก๊าซหุงต้มไปจนถึงสิ้นปี ออกมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้น ผลักดันโครงการระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ สามารถประหยัดน้ำมันในการขนส่งได้ถึงปีละ 40 ล้านลิตร ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุและงบประมาณในการบำรุงรักษาทาง มั่นใจไทยจะเป็น”ฮับ”ด้านพลังงานของอาเซียน
วันนี้ (6 กันยายน 2555) นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน ปี 2555 ตามนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่ากระทรวงพลังงาน นับเป็นกระทรวงหนึ่งที่มีภารกิจหลักในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและกำกับ ดูแลราคาพลังงานของประเทศ ให้เหมาะสมและมีเสถียรภาพเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพและประชาชนได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาพลังงานน้อยที่สุด
สำหรับผลการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วน 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถดูแลราคาพลังงานให้เหมาะสม เป็นธรรม ลดภาระค่าครองชีพของประชาชนได้ สิ่งแรกที่ได้รับการแก้ไข อย่างเร่งด่วน คือ การแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน โดยชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนฯชั่วคราว ได้มีการปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันของเบนซิน 95,91 และดีเซล ซึ่งเป็นผลให้ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง ลิตรละ 8 บาท เบนซิน 91 ลดลง 7 บาท และดีเซลลดลง 3 บาททันที
การออกบัตรเครดิตพลังงาน NGV สำหรับรถรับจ้างสาธารณะ รถแท็กซี่ รถตู้ รถสองแถว โดยเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2554 มีผู้เข้าร่วมโครงการได้รับส่วนลดมากกว่า 85,000 ใบ และมีผู้ได้รับบัตรเครดิตมากกว่า 22,800 คน นอกจากนี้เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2555 กระทรวงพลังงาน ได้เปิดโครงการบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2 เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ถือบัตรเครดิตพลังงาน NGV กลุ่มรถแท็กซี่ รถสามล้อ รถตู้ร่วม ขสมก.และวินมอเตอร์ไซด์รับจ้างด้วย
นายอารักษ์แถลงอีกว่า กระทรวงพลังงานตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน อันเนื่องมาจากราคาพลังงาน จึงได้แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ โดยใช้เงินกองทุนฯบริหารช่วงราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ดูแลราคาพลังงานให้เหมาะสม เป็นธรรม รักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร คงราคาขายปลีก NGV ที่ 10.50 บาท/กก. ตรึงราคาขายปลีก LPG ภาคครัวเรือนไปจนถึงสิ้นปี 2555 เพื่อมิให้ประชาชนเดือดร้อน ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีก LPG ภาคอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามต้นทุนโรงกลั่นน้ำมัน โดยกำหนดราคาขายปลีกไว้ที่ไม่เกิน 30.13 บาท/กก. และทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีก LPG ภาคขนส่ง
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ได้เน้นการดำเนินงานในด้านต่างๆ ที่สำคัญๆ รวม 5 ด้าน ดังนี้
1. ด้านความมั่นคงด้านพลังงาน ได้แก่ การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2555 เห็นชอบในหลักการให้มี การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของประเทศเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดย ได้กำหนดเป้าหมายการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเบื้องต้นไว้ที่ 90 วันจากเดิม 36 วันของความต้องการใช้ภายในประเทศ
จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) โดยเฉพาะในส่วนนโยบายด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเป็นพื้นฐานรองรับการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยนับเป็นครั้งแรกที่มีการบูรณาการแผนพลังงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ประกอบด้วย แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP), แผนอนุรักษ์พลังงาน (EE), แผนบริหารราชการแผ่นดิน,การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ขณะเดียวกันประเทศไทยได้ทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงาน อาทิเช่น ศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานด้านพลังงานระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศของสาขาพลังงาน และอุตสาหกรรมพลังงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ,ความร่วมมือด้านปิโตรเลียมระหว่างไทยกับประเทศแองโกลา เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2555 ได้มีการลงนามความร่วมมือด้านปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ,ความร่วมมือด้านปิโตรเลียมระหว่าง ไทย-สหภาพเมียมาร์ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2555 ลงนามใน Production Sharing Contract (PSC) เพื่อดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจบนบก PSC-G และแปลง EP-2 ในสหภาพเมียนมาร์ ,ผลักดันบทบาทไทยในด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทนในเวทีโลก เมื่อวันที3 ก.ค. 2555 ในการที่ไทยจะเข้าเป็นภาคีสมาชิกทบวงพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA)
2. ด้านพลังงานทดแทน ได้แก่ เป้าหมายและแผนงานรองรับการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ ,นโยบายส่งเสริมการใช้เอทานอลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมาตรการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซินออกเทน 91 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งมีส่วนผสมของเอทานอลให้มากยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2554 เห็นชอบในหลักการ ให้ยกเลิกเบนซิน 91 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค .2555 เป็นต้นไป
การใช้กลไกการผลิตเอทานอลเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาให้แก่พืชพลังงาน เช่น การส่งเสริมให้มีการรับซื้อเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลัง การบริหารไบโอดีเซลและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม ไม่เกิดภาวะขาดแคลน ไม่เคยต้องลดระดับการผสมน้ำมันไบโอดีเซล มีการขยายการใช้ประกาศนโยบายอย่างชัดเจนในการผสมน้ำมันดีเซลเกรด B5 เพียงเกรดเดียว อย่างต่อเนื่อง และยอดการใช้ไบโอดีเซล (B100) เฉลี่ย 2.756 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 50.5% เทียบกับปีที่ผ่านมา
3. ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ได้แก่ แผนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยครม.เห็นชอบปรับปรุงแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554-2573) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.54 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2573 อย่างน้อย 38,200 Ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) (มากกว่าแผนเดิม 8,200 ktoe) ลดการปล่อยCO2 ในปี 2573 ประมาณ 130 ล้านตัน รวมทั้งสามารถประหยัดพลังงานในปี 2573 ได้ 707,700 ล้านบาท บังคับหน่วยราชการทุกแห่งประหยัดพลังงานลงอย่างน้อยร้อยละ 10 % โดยออกเป็นมติครม. ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 316.9 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินมูลค่า 950 ล้านบาท ลดการใช้น้ำมัน 19.1 ล้านลิตร คิดเป็นเงิน 669 ล้านบาทรวมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
4. การช่วยเหลือด้านอื่นๆ ได้แก่ การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยผ่านคูปองเพื่อเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าประหยัดพลังงานเบอร์ 5 และการช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพรถรับจ้างสาธารณะผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรเครดิตพลังงาน
5. การจัดหาปิโตรเลียมและการจัดเก็บผลตอบแทนแก่รัฐ ได้แก่ การจัดหาปิโตรเลียม กำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานสามารถจัดหาปิโตรเลียมทั้งในพื้นที่ตามสัมปทานภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ภายใต้พระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533 เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของประเทศ ,การให้สัมปทานปิโตรเลียม โดย อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ,การค้นพบปิโตรเลียมแหล่งใหม่ ซึ่งในช่วงปลายเดือนมกราคม 2555 ได้ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในแหล่งดงมูล จังหวัดกาฬสินธุ์ ,รายได้ของรัฐจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น 75,503 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นรายได้จัดเก็บเข้าแผ่นดินอันดับ 4 ของประเทศโดยที่ได้มีการจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสิ้น 4,308 ล้านบาท
นายอารักษ์กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานกำลังกำหนดรูปแบบการลงทุน วิเคราะห์และพัฒนาประสิทธิภาพการลงทุนก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมันส่วนต่อขยายจากภาคกลางบริเวณจังหวัดสระบุรีไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมคาดว่า จะสำเร็จเป็นรูปธรรมในสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2555 นี้รวมถึงจะมีแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) ที่ชัดเจน
ผลดีที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ ได้แก่ ลดการขนส่งของรถบรรทุกน้ำมันระหว่างคลัง 51,536 เที่ยวต่อปี ลดระยะการเดินทางรถบรรทุก 12 ล้าน กม.ต่อปี ประหยัดน้ำมัน ในการขนส่ง 40 ล้านลิตรต่อปี ค่าขนส่งน้ำมันถูกลงทำให้ประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัดใช้น้ำมันในราคาใกล้เคียงหรือเท่ากับ กทม. ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากรถขนส่งน้ำมัน ประหยัดงบประมาณในการบำรุงรักษาทางมาก ลดมลภาวะทางอากาศจากไอเสียของรถขนส่งน้ำมัน นอกจากนี้ ยังเป็นโครงข่ายหลักในการส่งเสริมนโยบายการเป็นศูนย์กลาง Logistics พลังงานภายใต้แนวทางการรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
“ ในปี 2556 กระทรวงพลังงานจะมุ่งเน้นในการจัดหาแหล่งพลังงาน สร้างความมั่นคง ให้กับประเทศ และดำเนินงานด้านพลังงานควบคู่ไปกับการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้านพลังงานอย่างเต็มกำลัง เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาคต่อไป” นายอารักษ์กล่าว