กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอเห็นด้วยไม่ขยายจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพิ่มอีก ภายหลังจะสิ้นสุดผ่อนผันการขึ้นทะเบียนครั้งสุดท้าย ในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ ระบุถ้าบริหารจัดการให้ดีแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในระบบถูกต้องและที่รอตรวจสอบมีเพียงพอใช้งาน เสนอมาตรการแก้ปัญหาครบวงจร “3เลิก 3เร่ง 3รุก 3โล๊ะ” และหากจำเป็นต้องรับเพิ่มก็ควรนำเข้าภายใต้ความตกลงรัฐต่อรัฐ
ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งโดยเฉพาะแรงงานระดับล่างได้กลายเป็นแรงงานหลักในหลายอุตสาหกรรมที่แรงงานไทยขาดแคลน การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เรื้อรังมาเกือบสองทศวรรษยังทำได้ไม่ครบถ้วน จำเป็นต้องพิจารณาในทุกมิติ และในวันที่ 14 ธันวาคม 2555 จะครบกำหนดการพิสูจน์สัญชาติและต่อทะเบียนแรงงานต่างด้าวเป็นครั้งสุดท้าย
ทั้งนี้ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวมาถึงช่วงสุดท้ายที่ต้องมีความชัดเจน เพราะเราไม่ต้องการให้มีการจดทะเบียนเพื่อเอาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาสู่ระบบเพิ่มอีก โดยขณะนี้คาดว่ามีจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบราว 4.6 แสนคน เมื่อสามารถเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนได้ทั้งหมด จะทำให้มีจำนวนแรงงานต่างด้าว(ระดับล่าง) ราว 1.7 ล้านคน เมื่อไปรวมกับกลุ่มแรงงานบุคคลบนที่ราบสูงและกลุ่มอื่นๆก็จะมีจำนวนราว 2 ล้านคนเศษ ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยประมาณ 2.5 ล้านคน ถึงกระนั้นก็ยังน่าจะมีจำนวนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ทำงานอยู่อีกราว 3-4 แสนคนที่ยังไม่ได้เข้าระบบ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะจดทะเบียนเพิ่ม/รับใหม่ แต่ควรใช้วิธีอื่นในการที่จะแก้ปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว
สำหรับแนวทางดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ ดร.ยงยุทธระบุว่า ควรดำเนินการ “3เลิก 3เร่ง 3รุก และ 3 โล๊ะ” กล่าวคือ 3เลิก ประกอบด้วย 1)เลิกจดทะเบียนใหม่ 2)เลิกจดทะเบียนแบบเดิมที่เป็นพื้นที่หรืออาชีพ เพราะพิสูจน์แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพ ควรใช้รูปแบบอื่นเช่นการกำหนดโซนนิ่งพื้นที่การทำงานที่สามารถทำได้มากกว่า 1 จังหวัด และยกเลิกในบางจังหวัดที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวน้อยเช่นไม่ถึง 1,000 คนซึ่งมีมากกว่า 20 จังหวัดทำให้เป็นพื้นที่สีขาว(ปลอดการใช้แรงงานต่างด้าว) 3) เลิกโควต้าแบบเก่าที่เปิดโอกาสให้นายจ้างไปยื่นความต้องการได้โดยตรง ซึ่งไม่ถูกหลักการและนายจ้างก็มีแนวโน้มที่จะขอมากกว่าต้องการใช้จริง ควรเปลี่ยนมาเป็นระบบโควตาใหม่ ให้นายจ้างยื่นผ่านสมาคมวิชาชีพซึ่งจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบความต้องการแท้จริงก่อนยื่นขอให้พิจารณา ส่วนกรมการจัดหางานเน้นการทำหน้าที่กำกับดูแล ในภาพรวมของประเทศ การได้มาของแรงงานต่างด้าว ที่จะใช้ประโยชน์ให้กับประเทศชาติในสาขาอาชีพต่าง ๆ และจำนวนที่ต้องการจริงๆ
มาตรการ 3 เร่ง คือ 1) จัดระบบการนำเข้าโดยตรงในลักษณะ MOU ประมาณ 1.5 แสนคน เพื่อทดแทนแรงงานในส่วนที่จะต้องกลับออกไปเพราะครบกำหนดสัญญา จึงต้องมีการจัดระบบเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการ โดยให้จัดทำจุดนัดพบแรงงานหรือศูนย์แลกเปลี่ยนแรงงาน บริเวณชายแดนโดยเฉพาะกับ 3 ประเทศหลักคือ พม่า ลาว กัมพูชา ให้นายจ้างนำคนกลุ่มนี้ไปรายงานกับศูนย์นัดพบแรงงาน (ซึ่งก็คือให้คนกลุ่มนี้กลับประเทศไปก่อนให้ไปผ่านการตรวจสอบแล้วกลับเข้ามาอย่างถูกต้อง) การตั้งศูนย์นัดพบแรงงงานนี้เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นที่ทำได้เลยโดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านทำงานร่วมกัน ในระยะกลางคือการทำความตกลงแบบจีทูจีหรือการนำเข้าโดยตรงรัฐต่อรัฐเพื่อตัดปัญหาเรื่องนายหน้าเถื่อนเนื่องจากเป็นปัญหาที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ และการนำเข้าในลักษณะนี้ก็ควรจะเปิดกว้างนำแรงงานจากประเทศอื่น ๆ เข้ามาทำงานได้นอกจากแรงงาน พม่า ลาว กัมพูชา เช่น แรงงานจาก บังคลาเทศ จีน อินเดีย โดยมีเงื่อนไขเมื่อนำเข้ามาแล้วต้องมีการจัดฝึกอบรมให้กับแรงงานด้วย 2) เร่งจัดทำระบบอาชีพที่ต้องการให้ชัดเจน มีข้อมูลทางวิชาการยืนยัน เพื่อไม่ให้เปิดกว้างอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 3)เร่งปรับปรุงระบบโควตาที่จะต้องมีความต้องการให้ชัดเจนจึงจะควบคุมได้ เพราะความจริงเดิมแล้วแรงงานต่างด้าวที่เรารับมีไม่กี่อาชีพและส่วนใหญ่คือกรรมกร แต่มีจำนวนไม่น้อยแอบมาจดทะเบียนอยู่ในหมวดอื่น ๆ ซึ่งเงื่อนไขนี้กลายเป็นตัวซ่อนให้มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในอาชีพที่เราไม่ได้ต้องการหรืออนุญาตจนเกือบจะเป็นการเปิดเสรี
มาตรการ 3 รุก คือ 1) การปฎิรูประบบบริหารแรงงานต่างด้าว จำเป็นต้องมีการปรับ สำนักงาน
บริหารแรงงานต่างด้าวมีความพร้อมทั้งบุคลากร งบประมาณและเครื่องมือเพื่อการติดตามใกล้ชิด บังคับใช้กฎหมายเข้มงวดในปีต่อ ๆ ไป 2) การตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จัดระบบให้ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามารวมกลุ่มประกอบการในพื้นที่เดียวกัน และยังเชื่อมโยงกับการกำหนดพื้นที่การทำงานของแรงงานต่างด้าวที่นำเข้ามา รวมทั้งทำให้สามารถกำกับดูแลได้ชัดเจนขึ้น การดำเนินการดังกล่าวยังรองรับการเปิดเสรีอาเซียนหรือเออีซี เนื่องจากใน AEC ไม่ได้พูดถึงแรงงานระดับล่างแต่พูดถึงแรงงานระดับบน แต่แรงงานระดับล่างจะมากับการเคลื่อนย้าย/ลงทุนของธุรกิจ จึงอาจต้องกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วอนุญาตให้มีการข้ามแดนมาทำงานได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องเร่งแก้ไขให้ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการแรงงานในส่วนที่อยู่ในเขตพิเศษที่ตั้งขึ้น และในปีหน้าเมื่อค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันหมดอุตสาหกรรมว่าจะตั้งที่ไหนก็จ่ายค่าแรงเท่ากันดังนั้น ดังนั้นการเข้ามาอยู่ในโซนนิ่งจะช่วยลดต้นทุนได้มากกว่าและสามารถใช้แรงงานได้ภายใต้การควบคุมที่ชัดเจน และเมื่อเปิด AEC อีกสองปีข้างหน้า ก็สามารถย้ายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านได้ง่าย เพราะอีก 4-5 ปีข้างหน้าค่าแรงของประเทศเพื่อนบ้านยังตามไทยไม่ทันอยู่ดี 3) เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายภายหลังสิ้นสุดกระบวนการ โดยกวดขันนายจ้างเพราะเมื่อจำนวนแรงงานต่างด้าวกับความต้องการที่มีอยู่เพียงพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเอาเข้ามาอีก
ส่วนสุดท้าย คือ 3 โล๊ะ คือ 1) โล๊ะหรือกำจัดระบบนายหน้าเถื่อน ซึ่งมองว่าระบบนายหน้าเถื่อนเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการค้ามนุษย์และยาเสพติด 2)กำจัดการใช้แรงงานต่างด้าวที่เป็นเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มการใช้แรงงานที่ไม่เป็นทางการเช่นในกิจการประมงและต่อเนื่อง 3) อย่างไรก็ตามเราก็ยังเชื่อว่ายังมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอยู่บ้าง ในระยะยาวจึงต้องหาทางกำจัดส่วนของแรงงานผิดกฎหมายให้หมดไป แม้จะเป็นเรื่องยากและเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศ
นอกจากนี้สิ่งที่ควรทำไปพร้อมกันคือ ปรับระบบการต่ออายุให้กับแรงงานต่างด้าวให้สามารถทำงานอยู่ในประเทศไทยได้ 8 ปีโดยแบ่งระยะการต่ออายุเป็น 2+3+3 ปี ซึ่งจะทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างด้าวไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายในการนำเข้าหรือต้องเดินทางกลับประเทศและกลับเข้ามาใหม่ และแรงงานกลุ่มนี้ได้พัฒนาเป็นแรงงานฝีมือ แนวทางนี้เป็นที่ยอมรับใช้กันในหลายประเทศ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีการจัดฝึกอบรมเพิ่มผลิตภาพแรงงาน รวมทั้งเรื่องภาษาและอาชีวอนามัย โดยให้สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรมไปใช้สิทธิลดหย่อนทางภาษีได้ ส่วนมาตรการในระยะกลางระยะไกลควรนำวิธีการเก็บค่าธรรมเนียมการจ้างแรงงานต่างด้าวกลับมาใช้โดยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามทักษะของแรงงาน โดยแรงงานมีทักษะเสียค่าธรรมเนียมถูกกว่าแรงงานไร้ทักษะ
“ระบบนี้ยังช่วยจัดระเบียบได้ว่าเราจะใช้คนที่มีความรู้ขนาดไหน โดยบีโอไอจัดระบบความรู้แรงงานระดับบนแล้ว แต่สิ่งที่เราต้องทำมากขึ้นคือการจัดระบบแรงงานระดับกลางระดับล่าง เพื่อกระตุ้นให้นายจ้างและตัวแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาต้องได้รับการฝึกฝนทักษะฝีมือเพิ่มขึ้น แนวทางนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระบบแรงงานเพื่อรองรับกับการเปิด AEC ด้วย”.