เอไอเอสโชว์ศักยภาพพัฒนาการต่อเนื่องด้านเครือข่าย ตอกย้ำความเป็นผู้นำบริการสื่อสารไร้สายสมบูรณ์แบบผ่านเครือข่ายอัฉริยะความเร็วสูง

ข่าวทั่วไป Wednesday August 18, 2004 12:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--เอไอเอส
เอไอเอสประกาศแผนพัฒนาเครือข่ายต่อเนื่อง ทั้งความครอบคลุม, ความสามารถในการรองรับการใช้งาน, การพัฒนาคุณภาพเครือข่ายและนวัตกรรมใหม่ๆจากความสามารถของวิศวกรไทย ด้วยงบกว่า 9 พันล้านบาท ที่ทำให้เอไอเอสสามารถครองความเป็นผู้นำอันดับ 1 นำมาซึ่งความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพเครือข่ายอัจฉริยะที่จะสามารถมอบความสุขและคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดียิ่งกว่าให้แก่ลูกค้าจากบริการที่พัฒนาขึ้นจากเครือข่ายไร้สายทั้งหมดของเอไอเอส
นางอาภัททรา ศฤงคารินกุล, รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานพัฒนา Solutions เอไอเอส กล่าวถึง นโยบายในการพัฒนาเครือข่ายว่า “เครือข่ายที่ดี นับเป็นหัวใจหลักของการมอบบริการที่สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ผู้ใช้บริการ ดังนั้นที่ผ่านมา เอไอเอสจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงเครือข่ายอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ซึ่งเป็นช่วงแรกของการเริ่มเปิดให้บริการ ด้วยงบประมาณในการลงทุนตั้งแต่เริ่มให้บริการรวมแล้วกว่าแสนล้านบาท และในปี พ.ศ. 2547 เรายังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 9,981 ล้านบาท แบ่งเป็นการขยายเครือข่ายทั้ง Voice และ Non Voice 6,976 ล้านบาท , การปรับปรุงคุณภาพเครือข่าย เป็นเงิน 1,579 ล้านบาท และระบบสนับสนุนเครือข่าย เป็นเงิน 1,426 ล้านบาทโดยกลยุทธ์ที่นำมาใช้ คือ
- ต้องมีความต่อเนื่องของการขยายความครอบคลุมของเครือข่าย (Network Coverage) ที่ดำเนินการอย่างไม่หยุดยั้งจากระดับอำเภอลงมาที่กิ่งอำเภอ, ตำบล และหมู่บ้าน จนกระทั่งปัจจุบันมีสถานีฐานจำนวน 9,269 แห่ง และมีชุมสาย จำนวน 63 แห่ง โดยมีความสามารถในการรองรับการใช้งาน (Network Capacity) อยู่ที่ราว 15 ล้านเลขหมาย ทั้งนี้คาดว่าภายในสิ้นปี 2547 จะเพิ่มจำนวนสถานีฐานเป็น 9,511 แห่ง และเพิ่มชุมสายเป็น 64 แห่งเช่นกัน โดยจะสามารถรองรับการใช้งานได้ถึง กว่า 16 ล้านเลขหมาย
- มีการปรับปรุงคุณภาพของเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น (Network Quality)
- ต้องมีความสามารถในการให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ (Customer Service)
- ต้องสามารถสร้างความหลากหลายของบริการที่พัฒนาขึ้น (Service Variety)
- เครือข่ายต้องมีความพร้อมในการเชื่อมต่อและพัฒนาบริการร่วมกับพันธมิตร — Business Alliance
ด้านนายพีรเวท กิจบูรณะ, ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาคุณภาพเครือข่าย กล่าวถึงการทำงานด้านคุณภาพเครือข่ายว่า “นอกเหนือจากการพัฒนาเครือข่ายในเชิงกว้างแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงลึกซึ่งนับเป็นหัวใจหลักของการให้บริการ นั่นคือ “คุณภาพของเครือข่าย (Network Quality)” ที่ได้มีการดำเนินการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลากว่า 2 ปี โดยผ่านกระบวนการของการรวบรวมข้อมูลผลการวัดคุณภาพของเครือข่าย, สรุปคำร้องเรียนลูกค้าและความต้องการของผู้บริโภค ,วิเคราะห์และจัดทำเป็นเกณฑ์เพื่อวัดและสร้างมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพ ซึ่งส่งผลทำให้ปัจจุบันอัตราการโทร.สำเร็จหรือ Successful Call สูงขึ้น พร้อมทั้งมีอัตราการโทร.สายหลุดลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ”
ทั้งนี้ได้มีการจัดทำมาตรฐานการวัดคุณภาพทั้งในส่วนของ Voice และ Non Voice ผ่านทางมุมมองของผู้ใช้บริการ ประกอบด้วย
Voice
1. ความครอบคลุมของเครือข่าย (Coverage)
2. สามารถโทร.ติดได้อย่างง่ายดาย (Ease to make Call)
3. คุณภาพความคมชัดของเสียง (Voice Quality)
4. อัตราการโทร.สายหลุด (Drop Call)
Non Voice
1. คัดเลือกบริการที่ได้รับความนิยมสูงสุด (Strategic Service)
2. การตอบรับของระบบ (Response Time)
3. ระยะเวลาของการเข้าถึงบริการ (Access Time)
4. ความสามารถในการเข้าถึงระบบ (Accessibility)
นายวิเชียร เมฆตระการ , รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานปฏิบัติการ เปิดเผยว่า “นอกเหนือจากการวางแผนงานด้านการขยายเครือข่ายและปรับปรุงคุณภาพที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแล้ว เพื่อให้ในส่วนของการปฏิบัติงานในพื้นที่จริงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว พร้อมตอบสนองความต้องการได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นฝ่ายวิศวกรรมของเอไอเอส จึงคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาเพื่อพัฒนาขั้นตอนการทำงาน อาทิ
1. Drive Test in Taxi : จากการที่ทางบริษัทได้มีการทดสอบคุณภาพสัญญาณเป็นประจำ โดยวิธีการหนึ่งคือการทดสอบสัญญาณภายนอก หรือ Drive Test ซึ่งมีทั้งการเดินทดสอบสัญญาณภายในอาคาร,การใช้รถทดสอบสัญญาณตามเส้นทางต่างๆ รวมถึงการทดสอบสัญญาณทางเรือ ดังนั้นเพื่อให้สามารถทราบรายละเอียดในเชิงลึกของคุณภาพเครือข่ายได้รวดเร็วและเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการนำอุปกรณ์ทดสอบสัญญาณอัตโนมัติติดตั้งบนรถแท็กซี่ โดยรถแท็กซี่ดังกล่าวยังคงวิ่งรับ-ส่ง ผู้โดยสารได้อย่างปกติ เนื่องจากอุปกรณ์จะสามารถทำงานได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องมีผู้ควบคุม ทั้งนี้การติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว จะทำให้สามารถทราบรายละเอียดของคุณภาพเครือข่าย ทั้ง Voice และ Non Voice ได้อย่างครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันทีซึ่งจะมีผลให้ลูกค้าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
2. Mobile BTS : หรือ สถานีฐานเคลื่อนที่ขนาดเล็ก ที่นับเป็นนวัตกรรมจากวิศวกรของเอไอเอสที่พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานเฉพาะที่อย่างรวดเร็ว ,แก้ขีดจำกัดจากรถดาวเทียมที่มีอยู่ และมีความคล่องตัวในการใช้งาน อันอาจเกิดจากข้อจำกัดหลายๆประการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมในเทศกาลต่างๆ ,ช่องสัญญาณในบางสถานที่อาจไม่เพียงพอ, รถ Mobile ที่ใช้ ดาวเทียมเป็นสื่อสัญญาณมีไม่เพียงพอ หรือแม้แต่การต้องการเพิ่มช่องสัญญาณเฉพาะช่วงเวลา โดย Mobile BTS นี้สามารถรองรับการใช้งานได้ถึง 12 ช่องสัญญาณ (รถดาวเทียมรองรับได้ 6 ช่องสัญญาณ)
โดยนายวิเชียรกล่าวสรุปตอนท้ายว่า “ไม่ว่าจะเป็นการขยายเครือข่าย, การพัฒนาคุณภาพเครือข่าย, การสร้างสรรค์ Solutions ใหม่ๆในการทำงาน นับเป็นพื้นฐานหลักที่ทำให้เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอไอเอส ก้าวสู่การเป็น เครือข่ายอัจฉริยะความเร็วสูงอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งแน่นอนว่าทีมวิศวกรของเอไอเอสจะเดินหน้าทำงานอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อให้ผู้ใช้บริการของเราทุกคนมีความสุขจากการสื่อสารในเครือข่ายของเอไอเอส ทุกแห่ง ทุกที่ ทุกเวลา อย่างแน่นอน”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สำนักประชาสัมพันธ์ เอไอเอส
วราลี จิรชัยศรี โทร. 022995063, 018112412
waraleej@ais.co.th--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ