ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุม “ไซเตสคอป 13”

ข่าวทั่วไป Wednesday August 18, 2004 15:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึง
การเป็นเจ้าภาพการประชุมสมัยสามัญภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ครั้งที่ 13 ( The 13th Meeting of the Conference of the Parties to CITES ) หรือ “ไซเตสคอป 13” (CITES CoP 13) ว่า
นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ที่ประชุมไซเตสคอป 12 (CITES CoP 12) ณ ประเทศชิลี ได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ครั้งที่ 13 เนื่องจากเป็นการจัดประชุมครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเป็นประเทศที่ 3 ในแถบเอเชียต่อจากจากประเทศอินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งการประชุมจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. การประชุมรวม (Plenary Session) เป็นวาระที่เกี่ยวกับองค์รวมของการประชุม เป็นต้นว่า กฎของการประชุม การรับรองวาระการประชุม นโยบายและการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ส่วนที่ 2 เป็นการประชุมคณะกรรมการชุดที่ 1 (Committee I) ประกอบด้วยวาระที่เกี่ยวกับการค้าสัตว์และพืชป่า การกำหนดโควตาส่งออก และการแก้ไขบัญชีสัตว์และพืชป่าแนบท้ายอนุสัญญาฯ และส่วนที่ 3 คือการประชุมคณะกรรมการชุดที่ 2 (Committee II) ประกอบด้วยวาระที่เกี่ยวข้องกับการบริหารอนุสัญญาฯ ด้านต่างๆ เช่น งบประมาณ การจ่ายเงินอุดหนุน ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ รายงานประจำปี และการติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ ดังนั้นประเทศต่างๆ จึงต้องมาประชุมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง สำหรับประเทศสมาชิกที่ไม่ดูแลควบคุมการค้าให้ดี อาจถูกประเทศอื่นหรือองค์กรเอกชนใช้เวทีนี้ในการประนามได้
นอกจากนี้ในระหว่างการประชุมยังมีกิจกรรมอื่นอีก เช่น การจัดนิทรรศการแสดงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าพืชป่าและสัตว์ป่าระหว่างประเทศ รวมถึงมาตรการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่า อีกด้วย
นายสุวิทย์ กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพจัดประชุม”ไซเตสคอป 13”นี้ จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง โดยจะได้รับสิทธิให้เป็นคณะกรรมาธิการบริหารเป็นเวลา 2 สมัยในการประชุม CoP ซึ่งจะช่วยให้ประเทศได้ผลประโยชน์ด้านการค้า และการอนุรักษ์สัตว์และพืชป่า รวมทั้งยังจะส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางธุรกิจการค้าระหว่างประเทศในด้านสัตว์และพืชป่า รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เศรษฐกิจของประเทศและประชาชนดีขึ้นด้วยขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความตระหนักและความตื่นตัวในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์และพืชป่ามากยิ่งขึ้น
อันจะมีผลให้การควบคุมการค้าสัตว์และพืชป่าสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการค้าและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์และพืชป่าอย่างยั่งยืน โดยประชาชนจะมีความเข้าใจถึงวิธีการค้าแบบอนุรักษ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า การขยายพันธุ์พืชป่า
การกำหนดโควต้าส่งออกที่ได้จากการประเมินผล ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Non-detrimental finding) ฯลฯ อันจะก่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนขึ้นในการกำหนดนโยบายการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์และพืชป่าของประเทศได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ตลอดจนเป็นการเพิ่มรายได้เข้าประเทศจากการใช้จ่ายของผู้ร่วมประชุมและผู้ติดตาม ที่มาจากองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชนจากนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะมาเข้าร่วมประชุมประมาณ 2,000 คน “ขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้เตรียมการประชุมได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมไปถึง 70% ของการเตรียมงานทั้งหมดแล้ว โดยเราได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น การต้อนรับ ด้านพิธีการ
ความปลอดภัยและจราจร รวมทั้งยังได้เตรียมความพร้อมในเรื่องโรงแรมที่พัก สถานที่จัดประชุม รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ร่วมเข้าประชุมเป็นอย่างดี
โดยมีการประสานงานกับโรงแรมชั้นนำในกรุงเทพเพื่อรองรับผู้เข้าร่วมประชุมให้มีเพียงพอ ตลอดจนมีการประสานงานกับบริษัทรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อจัดทำบัตรโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินให้กับผู้ร่วมเข้าประชุมใช้ในการเดินทางระหว่างที่ประชุมและโรงแรมที่พัก นอกเหนือจากรถรับส่งที่จัดให้ประจำในช่วงเช้าและเย็น นอกจากนี้ยังได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสำหรับการประชุม มูลค่า 10 บาท ซึ่งจะจัดทำแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้
ผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมอย่างยิ่งและสามารถสร้างความประทับใจที่ดีให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม
ในฐานะของเจ้าภาพจัดการประชุมไซเตสคอป ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 2 -14 ตุลาคม 2547 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์”
ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักส่งเสริมและเผยแพร่
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
49 พระราม 6 ซอย 30 ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ 10400 http://www.deqp.go.th.
โทรศัพท์/โทรสาร: 0-2298-5852-3--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ