กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--ก.ไอซีที
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบูรณาการ (OTOP Plus) ว่า โครงการยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบูรณาการ หรือ OTOP PLUS เป็นโครงการที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ริเริ่มขึ้น เพื่อบูรณาการความร่วมมือการดำเนินงานโครงการดังกล่าวตามนโยบายรัฐบาล กับ 6 หน่วยงาน คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายช่องทางการตลาด ตลอดจนเพื่อพัฒนาและสร้างมาตรฐานผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
ในส่วนของกระทรวงไอซีที มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภายใต้สังกัด 2 หน่วยงาน คือ ไปรษณีย์ไทย และ กสทฯ ได้ร่วมมีบทบาทในการสนับสนุนการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และขยายช่องทางการตลาดธุรกิจแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่ง ไปรษณีย์ไทย นั้น เป็นหน่วยงานที่ไม่เคยหยุดนิ่งมีการพัฒนาเครือข่ายขนส่งสู่บริการโลจิสติกส์ครบวงจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งทั้งระบบ ด้วยการเชื่อมโยงกับทุกโครงข่ายเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพ ความสะดวก รวดเร็ว คุ้มค่า ตอบสนองการทำธุรกิจของคนไทย โดยเฉพาะ SMEs และ e-Commerce ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ จึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันได้อย่างมืออาชีพ สำหรับบทบาทของ ไปรษณีย์ไทย ในโครงการฯ นี้ คือ การอำนวยความสะดวกโดยเปิดช่องทางการสั่งซื้อสินค้า OTOP และให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านหน้าเว็บไซต์ www.postshop.co.th และ Call Center 1545 รวมทั้งการนำศักยภาพที่มีอยู่ในด้านเครือข่ายทั่วประเทศ และระบบ logistic มาเป็น ผู้จัดส่งสินค้าให้แก่ผู้สั่งซื้อ
ด้าน กสทฯ นั้น มีพันธกิจในการให้บริการเครือข่ายการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีและการบริการที่ดีที่สุด และเป็นพันธมิตรชั้นนำขององค์กรทั้งในและต่างประเทศในด้านการติดต่อสื่อสาร ส่วนบทบาทของ กสทฯ ในโครงการ OTOP PLUS คือ การจัดทำ e-Commerce System เพื่อให้มีการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะมีการแสดงสินค้าในรูป e-Exhibition การจัดทำ e-Smart OTOP เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อมูลของสินค้าผ่านทาง QR code และสามารถสั่งซื้อซ้ำได้ทาง Smart phone รวมทั้งการจัดอบรมผู้ประกอบการ สมาชิก สสว. กว่า 1,000 ราย เพื่อให้ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต
“กระทรวงไอซีที พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการยกระดับสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP ให้ประชาชนมีทางเลือกใหม่ในการเข้าถึงสินค้าในระดับชุมชนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการกระจายสินค้าโดยทำหน้าที่เป็นหน้าร้านออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการอีกด้วย ส่วนผู้บริโภคก็สามารถซื้อสินค้า OTOP ได้อย่างสะดวกง่ายดายผ่านช่องทางสายด่วนหมายเลข 1545 ซึ่งรับบริการทั้งสั่ง และ ส่ง รวมทั้งผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นความสามารถในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาโครงการฯ ให้ก้าวไปสู่การให้บริการในรูปแบบ Smart OTOP Plus ต่อไปในอนาคต” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว