การประกวดและจัดนิทรรศการ โครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษา-เอสโซ่

ข่าวเทคโนโลยี Thursday August 19, 2004 11:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
นางสมจิตร รัตนฤาทัย สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่าการศึกษาระดับอาชีวศึกษา เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศที่กำลังพัฒนาทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม รวมทั้งพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวข้างต้น วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนานักเรียน นักศึกษา ให้สามารถนำความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในชีวิตประจำวัน และประสบความสำเร็จในอาชีพที่ตนถนัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อกระตุ้นให้ครูและนักเรียน ในสังกัดกรมอาชีวศึกษา เห็นความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยการสนับสนุนของ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) จัดให้มีการประกวดและจัดนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์ อาชีวศึกษา-เอสโซ่ ขึ้นในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๗
วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้สอนใช้กระบวนการสอน ที่ช่วยให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ตัดสินใจลงมือปฏิบัติงาน และสามารถวิจัยงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ผู้สอนสามารถใช้เทคนิค วิธีการสอน การใช้สื่อ และกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ระหว่างกันอย่างกว้างขวาง ให้ผู้สอนสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่สร้างสรรค์ ทางความคิดและผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน สังคม และการพัฒนาประเทศต่อไป
การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษา-เอสโซเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาระดับอาชีวศึกษาทั่วทุกภาคของประเทศได้ส่งโครงงานเข้าร่วมประกวด โดยจะทำการแข่งขันเพื่อคัดเลือกโครงงานที่ชนะเลิศการประกวดระดับภาค จำนวน 3 โครงงาน มาเข้าร่วมการประกวดแข่งขันระดับประเทศ ในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๗ และร่วมแสดงนิทรรศการในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ระหว่างวันที่ ๑๘ — ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๗ ณ บริเวณชั้นล่าง อาคาร ๔ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
โครงงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ อาชีวศึกษา-เอสโซ ระดับประเทศ ครั้งที่ 14 ประจำปีการศึกษา.2547 และได้รับเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาทนั้น ได้แก่ โครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่องรีโมตเอนกประสงค์ จัดทำโดยนายปรัชญา คำภาบุตร นายปริญญา คำภาบุตร และนายภัทรพงศ์ ไชยศิริ นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น โดยมีนางลำเพย แผ้วพลสง และนางสาวชวนิดา ประแดงปุย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
นายภัทรพงศ์ ไชยศิริ ตัวแทนนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เขาและเพื่อนๆได้ใช้เวลาหลังเลิกเรียนในการศึกษา ค้นคว้าและทดลองตามหลักกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยอาศัยความรู้ที่ได้รับจากชั้นเรียนและความรู้ที่เขาและเพื่อนๆได้ศึกษา ค้นคว้าเพิ่มเติมมาทำการดัดแปลงรีโมต รถกระป๋องของเด็กเล่นเป็นรีโมตเอนกประสงค์เพื่อควบคุมการเปิด-ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ในการควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเดินไปเปิด-ปิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนชราหรือผู้ป่วยที่ลุกเดินลำบาก โดยรีโมตที่เขาและเพื่อนๆได้ประดิษฐ์ขึ้นมานั้นมีจุดเด่นตรงที่สามารถควบคุมการเปิด-ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าได้หลายอย่างในเครื่องเดียวกัน เนื่องจากได้ทำการติดตั้งช่องสัญญาณไว้ถึง 8 ช่องสัญญาณด้วยกัน โดย 7 ช่องสัญญาณแรกจะเป็นช่องสัญญาณที่ใช้เชื่อมต่อและควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ส่วนช่องสัญญาณที่ 8 นั้น จะเป็นช่องสัญญาณอินฟราเรดที่ใช้ควบคุมการเปิด-ปิดระบบกันขโมยและวงจรตั้งเวลา นอกจากนั้นรีโมต อเนกประสงค์นี้ยังมีรัศมีทำการทะลุสิ่งกีดขวางต่างๆได้ไกลถึง 200 เมตร
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 จำนวน 3 รางวัล จะได้รับเงินรางวัล โครงงานละ 10,000 บาท ได้แก่ โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องผลิตภัณฑ์จากเปลือกไข่ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องเครื่องฉายภาพ 3 in 1 จากวิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ และโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง Fiber Art จากวิทยาลัยเทคนิคชุมพร
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 จำนวน 5 รางวัล จะได้รับเงินรางวัล โครงงานละ 8,000 บาท ได้แก่ โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องการศึกษาระยะเวลา และอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อผลิตพริกแกงสำเร็จรูป (ชนิดแห้ง) จากวิทยาลัยเทคนิคชัยนาท โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องการศึกษาคุณลักษณะดินบอนไซเทียมที่ผลิตจากวัสดุและวัสดุประสานต่างชนิดกัน จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์ โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องเครื่องมือตรวจสอบสายเคเบิล จากวิทยาลัยเทคนิคสตูล โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องการศึกษาระบบพ่นไอน้ำในตู้อบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ จากวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย และโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องผลของการใช้วัสดุอาหารเสริมชนิดต่างๆที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตของเห็ดปุยฝ้าย จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 จำนวน 6 รางวัล จะได้รับเงินรางวัล โครงงานละ 6,000 บาท ได้แก่ โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องเครื่องวัดความเร็วลม และอุณหภูมิ จากวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องเครื่องไล่ลมเบรค จากวิทยาลัยเทคนิคสระบุรี โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องเครื่อฃประคบไฟฟ้า จากวิทยาลัย อาชีวศึกษาเอี่ยมละออ โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องชุดส่งถ่ายน้ำมันเครื่อง จากวิทยาลัยการอาชีพนครนายก โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องการสำรวจระบบนิเวศวิทยาป่าสันยางร้อยอุทยานแห่งชาติเขาสกเพื่อการออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี และโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องข้าวพันผักจากแป้งกล้วยชนิดต่างๆ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ