กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่
ศูนย์ตรวจสุขภาพโรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่ เพิ่มศักยภาพของการเป็นศูนย์เฝ้าระวังโรค และส่งเสริมสุขภาพ นำโปรแกรมคำนวณความเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือด (Framingham risk score) อันเป็นที่ยอมรับทั่วโลก มาใช้เพื่อทำนายความเสี่ยงรวมของโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต 10 ปีข้างหน้า จากการซักประวัติ ด้านปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ เพศ, อายุ, ความดันเลือด, การสูบบุหรี่ การตรวจเลือดดูภาวะเบาหวาน ไขมันในเลือด และ การเคลื่อนไหวร่างกาย ในกลุ่มผู้มาใช้บริการตรวจสุขภาพทุกราย
นพ.ศุภชัย สินไตรรัตน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลลานนา ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย สาเหตุที่สำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดจากการแข็ง และตีบตันของหลอดเลือดแดง (Atherosclerosis) ซึ่งถ้าเกิดที่หลอดเลือดหัวใจ จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เกิดที่หลอดเลือดสมองทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดที่ไตทำให้ไตเสื่อม และความดันเลือดสูง เกิดที่หลอดเลือดแดงส่วนปลายทำให้อวัยวะต่างๆ ขาดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงที่ขาตีบ ทำให้เกิดอาการปวดขามากเวลาเดินไกล หรือถ้าหลอดเลือดตีบตันมากเฉียบพลัน กล้ามเนื้อที่ขาอาจจะเน่าตาย จนต้องตัดขาเพื่อรักษาชีวิต เป็นต้น
นพ.ศุภชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง นั้นมีหลายสาเหตุ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง ไขมันผิดปกติ (ไขมันไม่ดี คือ โคเลสเตอรอลสูงเกินไป หรือไขมันที่ดี คือ เอชดีแอลต่ำเกินไป) การสูบบุหรี่ อายุที่มากขึ้น เพศชายหรือเพศหญิงหลังหมดประจำเดือน ประวัติในครอบครัว เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มีผลทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบแคบลง จนเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกแรง เวลาโมโหหรือรีบๆ ทำอะไร เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ กับความต้องการเลือดของหัวใจที่เพิ่มขึ้น จนเกิดอาการหัวใจขาดเลือดซึ่งมักจะเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ในกรณีที่เกิดการอุดตันทันทีของหลอดเลือดแดงที่หัวใจ จากการปริแตกเป็นแผลของผนังหลอดเลือดแดงและมีก้อนเลือดมาอุดหลอดเลือดจนตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยอาจจะเกิดการเต้นของหัวใจผิดปกติอย่างรุนแรงจนเสียชีวิต หรือเจ็บแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย และเกิดหัวใจวายตามมาได้
ดังนั้น ศูนย์ตรวจสุขภาพโรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่ จึงได้นำผลการตรวจสุขภาพของผู้มารับบริการทุกราย มาทำการประเมินความเสี่ยงรวม ของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะได้ผลออกมาเป็นระดับคะแนน แล้วแจ้งให้เจ้าตัวทราบ และสามารถนำผลที่ได้ออกมานี้ไปประกอบการรักษาต่อกับแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจโดยตรง อันประโยชน์มากต่อการนำมาใช้วางแผนป้องกัน และการรักษา เพื่อลดโอกาสเกิดปัญหาทางโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดที่อาจตามมาในอนาคต
โปรแกรมนี้มีประโยชน์มาก เพราะสามารถประเมินความเสี่ยงของภาวะสุขภาพ ออกมาเป็นระดับคะแนน ซึ่งจะสร้างความตระหนักในภาวะสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วยตนเองอีกทางหนึ่ง.
ติดต่อ:
Marketing Communication Department ,
Lanna Hospital,Chiang Mai Thailand
Tel.053-999755 Fax.053-999797
www.lanna-hospital.com
www.facebook.com/lannahospital