กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 3-7 ก.ย. น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.76 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 112.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 114.16 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 95.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 1.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 124.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 132.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- นาย Ben Bernanke ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) บ่งชี้ว่ายังคงเปิดทางให้กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีความพร้อมที่จะออกมาตรการเพื่อลดอัตราว่างงานของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 8.3%
- นักลงทุนถือสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นหลังธนาคารกลางยุโรปประกาศมาตรการซื้อพันธบัตรอย่างไม่จำกัดในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืม ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสเปนและอิตาลีลดลง (สเปนลดลงต่ำกว่าระดับ 6% ภายหลังในช่วงเดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงกว่า 7%) และประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75%
- Down Jones Newswires รายงานโรงกลั่น Ras Lanuf กำลังการกลั่น 220,000 บาร์เรลต่อวัน ของลิเบียได้กลับมาดำเนินการตามปกติหลังจากปิดเพราะสงครามกลางเมืองในปีที่แล้ว
- ประเทศเยอรมันและอิตาลีคัดค้านการปล่อยน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ ตามความต้องการของประเทศสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดว่า International Energy Agency คงยังไม่มีการปล่อยน้ำมันสำรองดังกล่าวในเวลาอันใกล้
- ตุรกีนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในเดือน ก.ค. 55 ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง อยู่ที่ระดับ 48,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 119,000 บาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- Institute of Supply Management (ISM) ของสหรัฐฯ รายงานดัชนีภาคการผลิตเดือน ส.ค. 55 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.6 จุด จาก 49.8 เดือนก่อน
- เศรษฐกิจจีนส่งสัญญานชะลอตัวโดย New Business Sub index ลดลงต่ำสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 54 และสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานดัชนี Factory Producer Manufacturing Index เดือน ส.ค. 55 ลดลงจากเดือนก่อน 0.9 จุด อยู่ที่ระดับ 49.2 จุด ต่ำสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 54
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC อยู่ในระดับสูงโดยอิรักส่งออกน้ำมันดิบเดือน ส.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 2.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี
- และThe Nigerian National Petroleum Corporation (NNPC) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันในเดือน ส.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 300,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงที่สุดในประวัติศาสตร์
- รัสเซียประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของกลุ่ม Non-OPEC ผลิตน้ำมันดิบเดือน ส.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.4% อยู่ที่ระดับ 10.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตปี พ.ศ .2534
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากนักลงทุนคาดว่า FED (ธนาคารกลางสหรัฐ) จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการประชุม Federal Open Market Operation หรือ FOMC ในช่วง 12-13 ก.ย. นี้ โดย Commodity Future Trading Commission หรือ CFTC รายงานกลุ่มผู้จัดการกองทุนเข้าซื้อน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1,153 สัญญา อยู่ที่ 193,624 สัญญา และนักลงทุนคลายความกังวลต่อวิกฤตหนี้ของยูโรโซนที่จะกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก หลังธนาคารกลางยุโรปประกาศโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซนเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปปลายสัปดาห์ก่อน ทางด้านอิหร่านได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ โดยในเดือน ก.ค. 55 อินเดียนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านลดลง 42% จากเดือนก่อน จีนลดลง 28% และญี่ปุ่นไม่มีการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่าน ส่งผลให้ปริมาณส่งออกอิหร่านเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 940,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงจากระดับ 1.7ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้สหภาพยุโรปมีแผนจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านเพิ่มเติมหลังจากข่าวกรองของสหรัฐฯระบุว่าอิหร่านไม่ได้ปฎิบัติตามคำเรียกร้องของนานาชาติในการหยุดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และการเจรจาทางการฑูตประสบความล้มเหลว อย่างไรก็ตามคาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯจะกลับมาเต็มกำลังการผลิตได้ในสัปดาห์นี้ ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI ในช่วงสัปดาห์นี้คาดว่าเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 112-117 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ 94-98 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ