กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--ARIP
ทีซีซี เทคโนโลยี (TCCT) ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นกลาง และศูนย์กลางของข้อมูลระดับภูมิภาค เปิดเผยวันนี้ว่าบริษัทฯ ได้ขยายบริการการเชื่อมต่อเพื่อรองรับผู้ให้บริการเนื้อหา รายต่างๆทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีเอเซียบุ๊คส ร้านหนังสือภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเป็นลูกค้ารายแรก โดย TCCT ได้เปิดตัวบริการ “Thailand Book Search” ด้วยเทคโนโลยีการค้นหาล่าสุดจาก Google เพื่อให้ลูกค้าสืบค้นรายการหนังสือออนไลน์ได้ตรงความต้องการที่สุด
ความร่วมมือระหว่างทีซีซี เทคโนโลยีและเอเซียบุ๊คส ในรูปแบบนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยฐานข้อมูลหนังสือของเอเซียบุ๊คสที่มีกว่า 7 ล้านรายการถูกนำเข้าสู่ระบบการค้นหาด้วยเครื่องมือค้นหา (Search Engine) แบบออนไลน์ โดยมีพื้นฐานจากบริการการเก็บและสำรองข้อมูลและการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านทางดาต้าเซ็นเตอร์ของ TCCT ผนวกกับเทคโนโลยี Google Search Appliance (GSA) ซึ่งจะทำให้เอเซียบุ๊คส เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันและช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะสามารถสืบค้นหนังสือและได้หนังสือที่ต้องการอย่างรวดเร็วและง่ายกว่าเดิม
บริการ Internet Commercial Exchange (ICX) ของ TCCT นำเสนอบริการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต (Open Internet Traffic Exchange) ระหว่างเครือข่ายผ่านระบบ Peering ซึ่งเป็นการอำนวยประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs) ผู้ให้บริการเครือข่าย (NSPs) ธุรกิจขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ (MLEs) และผู้ให้บริการเนื้อหา (CPs)
บริการ ICX ของ TCCT จะให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต โดยมีค่าความหน่วงเวลา(Latency)ที่ต่ำ และมีปริมาณข้อมูลที่รับส่งได้ต่อช่วงเวลา (Bandwidth) เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นจะส่งผลให้การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นไได้เร็วขึ้น และมีราคาที่ต่ำลงสำหรับผู้ใช้บริการ ณ ปัจจุบัน ดาต้าเซ็นเตอร์ของ TCCT ถือเป็นศูนย์รวมผู้ให้บริการเนื้อหาและข่าวสาร (Content Provider) ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก อาทิ หนังสือพิมพ์และธุรกิจประกอบการต่างๆ การให้บริการของ TCCT กับฐานข้อมูลหนังสือออนไลน์ของเอเซียบุคส นับเป็นความร่วมมือครั้งแรกในประเทศไทย โดยนำเทคโนโลยี Google Search Appliance หรือ GSA มาใช้เป็นเครื่องมือค้นหา (Search Engine) ให้กับลูกค้าของเอเซียบุ๊คส โดยได้สร้างทางเลือกการซื้อหนังสือผ่านทางระบบ E-commerce หรือการซื้อหนังสือออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ โดยลูกค้าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาในการเดินทาง และสามารถเลือกซื้อหนังสือได้เสมือนเลือกซื้อที่ร้านขายหนังสือจริง
นายโฆษิต สุขสิงห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า “ดาต้าเซ็นเตอร์ของทีซีซี เทคโนโลยี ได้แก่ เอ็มไพร์ทาวเวอร์ดาต้าเซ็นเตอร์ (ETDC) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ และบางนาดาต้าเซ็นเตอร์ (BNDC) บนอาคาร TCIF ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งสองแห่งมุ่งเน้นให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงพาณิชย์ (Internet Commercial Exchange) ระดับพรีเมี่ยม การนำเสนอบริการที่เพิ่มมูลค่าธุรกิจด้วย Google Search Appliance (GSA) จะเป็นการให้ประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าทั้งกลุ่มองค์กรและผู้ใช้ และการเป็นศูนย์กลาง (Hub) ระดับภูมิภาคที่ให้บริการการเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทุกภูมิภาคทั่วโลกทำให้องค์กรต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายการลงทุนในขณะที่ยังมีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด เพิ่มช่องทางและโอกาสการขาย ไปจนถึงสามารถจัดเก็บ บริหารจัดการ ผนวกและจัดระเบียบข้อมูลภายในองค์กรด้วยเทคโนโลยีของ GSA ทั้งนี้ในมุมมองจากธุรกิจสู่ผู้บริโภค เอเซียบุ๊คส ได้พิสูจน์แล้วว่าการใช้ GSA เป็นเครื่องมือค้นหาหลักที่สนับสนุนโดย TCCT จะมีความสะดวกมากขึ้นอีกทั้งยังสร้างความพึงพอใจและความมั่นใจกับลูกค้าของเอเซียบุ๊คส อีกด้วย”
นายสิโรตม์ จิระประยูร กรรมการ บริษัทเอเซียบุ๊คส จำกัดกล่าวว่า “การค้นหาหนังสือที่ต้องการจากหนังสือที่เอเซียบุ๊คสมีอยู่ประมาณ 7 ล้านเล่มเป็นเรื่องค่อนข้างลำบากสำหรับลูกค้า สำหรับเอเซียบุ๊คสแล้ว การบริหารจัดการและตรวจสอบรายการหนังสือที่เก็บไว้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย หลังจากนำเทคโนโลยี GSA มาเพิ่มขีดความสามารถให้กับการค้นหาที่มี TCCT ให้บริการสนับสนุนด้านการจัดเก็บสำรองและการรับ-ส่งข้อมูลด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต (Open Exchange) ที่ปลอดภัย TCCT สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และสอดคล้องกับแนวโน้มการตลาดที่มีลูกค้าของเราออนไลน์มากขึ้นทุกวันได้ รวมถึงสร้างความสะดวกและพึงพอใจแก่ลูกค้าเป็นอย่างมาก และเรายังวางแผนขยายฐานข้อมูลออนไลน์ของหนังสือในร้านเพื่อตอบรับความต้องการในอนาคตอีกด้วย”
มร. โยฮัน เซเกอร์เกรน ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจ Google Enterprise ประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “Google ตื่นเต้นที่ได้เห็นธุรกิจการขายหนังสือภาษาอังกฤษอย่างเอเซียบุ๊คสก้าวไปสู่โลกของคลาวด์ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นถึงมุมมองของผู้ประกอบการไทยต่ออินเทอร์เน็ตและยังเห็นถึงความสนใจจากผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ต้องการก้าวสู่โลกของคลาวด์อีกด้วย”