ดีไซน์สุดหิน “ราชาแห่งยักษ์-ทศกัณฐ์” ส่งพระเอกสันติสุขสวมคาแรคเตอร์ “น้าเขียว” หุ่นยนต์ยักษ์น่ารักใจดี

ข่าวบันเทิง Monday September 10, 2012 14:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--สหมงคลฟิล์ม ด้วยความชื่นชอบและหลงใหลในตัว “ทศกัณฐ์” ราชันย์แห่งผองยักษ์ ตัวละครเอกแห่งมหากาพย์รามายณะสุดยอดวรรณกรรมของชาวเอเชียที่“ประภาส ชลศรานนท์”มองว่า นี่คือสุดยอดงานครีเอทีฟที่เต็มไปด้วยจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ชิ้นเอกที่ปรากฏขึ้นบนผืนพิภพ พูดได้ว่ามนต์เสน่ห์ของ “ทศกัณฐ์” ยักษ์ 10 หน้า 20 แขน 20 มือคือภาพจำที่ติดตามาตลอดชีวิต และหวังไว้ว่าวันหนึ่งจะต้องนำสิ่งที่ตนเองรักนำมาทำอะไรสักอย่าง จนกระทั่งเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วโปรเจ็คต์ “ยักษ์” ก็ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบของภาพยนตร์แอนิเมชั่นอย่างเต็มรูปแบบจากไอเดีย และสองมือกำกับภาพยนตร์โดย ประภาส ชลศรานนท์ “ทศกัณฐ์คือพญายักษ์ที่ดุร้ายเก่งที่สุด แก่นหลักของรามายณะคือทศกัณฐ์ฆ่าไม่ตาย เราเอาคำว่าฆ่าไม่ตายมาใช้ด้วย ผมตีความตรงนี้ว่าไม่มีอะไรทำลายมันได้นอกจากตัวของมันเอง แล้วตัวทศกัณฐ์เป็นจอมราชายักษ์มาก่อน พอฟื้นขึ้นมาก็เกิดความจำเสื่อมก็จะกลายเป็นเอ๋อๆ เนื่องจากเป็นหุ่นรบตัวใหญ่ เพราะฉะนั้นการสร้างบุคคลิกตัวละครอย่างทศกัณฐ์ จะว่าสนุกก็สนุก จะว่ายากก็ยาก เพราะมี2บุคคลิก และไม่ได้ตัดขาดกันเหมือนคนละคน ในส่วนที่เป็นน้าเขียวก็มีหลายตอนที่เขาฮึดขึ้นมา ลองนึกถึงตอนคนซื่อๆใจดีฮึดน่ะ มันดูจริงใจ น้าเขียวหรือทศกัณฐ์เป็นตัวละครที่เราต้องเน้นเป็นพิเศษเพราะเขาเป็นตัวเอกเป็นพระเอกที่ต้องเดินเรื่องทั้งเรื่อง เราคุยกันละเอียดถึงสีของตาดำที่เราจะใช้ให้ต่างกันใน2บุคคลิก เราคุยกันหนักเรื่องปากที่ขยับเขียว และกงจักรที่เป็นโลหะพิเศษ ที่ไม่ลุกไหม้ไปกับเปลวไฟ เราเทสต์กันค่อนข้างนานกับการเคลื่อนไหว เพราะท่าทางของคนที่ขาเล็กแต่ตัวใหญ่นั้นจะเดินเหมือนอะไรดี จะก้มขนาดกอลิร่าไหม ที่เราชอบกันมากที่สุดก็คือแขนที่เป็นปล้องๆยืดได้ เพราะเราต้องการให้แขนของทศกัณฐ์เคลื่อนไหวได้ไกลเหมือนท่อเหมือนสปริงที่ยืดได้ แม้แต่ส่วนหลังของทศกัณฐ์เราก็หาวิธีให้มีที่เก็บของแขนอีกแปดแขนว่าจะงอกมาจากไหน ส่วนเสียงของตัวน้าเขียวหรือทศกัณฐ์ออกมาแล้วต้องใหญ่มีอำนาจคนที่จะสามารถพากย์เป็นตัวร้ายได้และในขณะเดียวกันที่พากย์ให้อารมณ์ใสซื่อแบบบุญชูได้ในตัวเดียวกันในเมืองไทยมีไม่กี่คนต้องบอกว่ามีคนเดียวคือหนุ่มสันติสุข แล้วตัวหนุ่มเองเขาเป็นนักแสดงที่ไม่ได้มาพากย์อย่างเดียวนะเขาแสดงเลยโดยที่ยังไม่เห็นการ์ตูนเคลื่อนไหวเลยเห็นแต่ภาพนิ่งแต่เขาต้องแสดงออกมา ต้องบอกว่ามันจะมีตัวเขาอยู่ในหนังเยอะมากสิ่งที่เขาแสดงเราถ่ายวิดีโอไว้หมดเลย เราจับอารมณ์และการเคลื่อนไหว จากการเล่นจากการแสดงของหนุ่มชนิดที่ว่าเห็นถึงอารมณ์จากดวงตาแววตาของเขาเลยนะ แล้วเอามาให้แอนิเมเตอร์ดู” โดยมี เอ็กซ์-ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ หัวเรือใหญ่บ้านอิทธิฤทธิ์ (แอนิเมเตอร์ไทยดีกรีชนะเลิศ FIRST PRIZE:SIGGRAPH 1998 การประกวดผลงานแอนิเมชั่น ประเภทนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก) รับหน้าที่ออกแบบและดีไซน์คาแรคเตอร์ของน้าเขียวหรือทศกัณฐ์ “ตัวละครนี้ผมออกแบบให้ช่วงบนใหญ่ และขาเล็ก เวลาเขาเป็นทศกัณฐ์ก็จะดูผงาด ดูยิ่งใหญ่ แต่เป็นน้าเขียวก็จะแสดงออกแบบหลังค่อม หงอๆ งอตัว ดังนั้นมันก็จะเป็นทั้งตัวเอ๋อได้ด้วย ตัวน่ากลัวก็ได้ ผมออกแบบยักษ์รวมๆ มาจากหลายอย่างครับ หน้าท้องจะออกแบบมาจากท้องแมลงครับ เป็นปล้องๆ ข้อดีคือ มันสามารถงอได้เหมือนหุ่นยนต์จริงๆ” พร้อมกับได้พระเอกเจ้าบทบาทอย่างหนุ่ม สันติสุข พรหมศิริมาเป็นผู้ให้เสียงให้ชีวิตให้ตัวละครเอกของภาพยนตร์แอนิเมชั่น “ยักษ์” ได้โลดแล่น “ทศกัณฐ์หรือยักษ์เขียวเป็นตัวละครที่มีหลากหลายอารมณ์แล้วมี 2 แคแร็คเตอร์ด้วย ตัวตนตอนที่ความจำเสื่อมเป็นน้าเขียวก็คือยักษ์ใสซื่อ อาโนเนะไม่รู้เรื่อง ใจดี ค่อนข้างจะซื่อบื้อด้วยนิดๆ เหมือนเด็กแบบเอาแต่ใจตัวเองและอีกด้านที่เป็นยักษ์ทศกัณฐ์โหดเหี้ยมดุร้ายและไม่ได้มีหน้าเดียวมีสิบหน้าตัวคาแร็คเตอร์นี้จะมี 2 ด้านแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เลยต้องทำให้คนรู้สึกว่ามันเป็นส่วนเดียวกันด้วยคือไม่ใช่ 2 ตัวไม่ใช่ตัวดีตัวร้าย แต่อันนี้ตัวดีตัวร้ายอยู่ในตัวเดียวกัน แล้วมีอารมณ์ที่หลุดออกมา บางทีเป็นดีๆ อยู่ก็หลุดร้ายขึ้นมา หรือกำลังร้ายอยู่หลุดดีออกมา ในเรื่องค่อนข้างที่จะออกแอ็คชั่นเยอะ ใส่สีหน้าออกไป และเขาถึงจะไปวาดไปทำอะไรให้มันร้อยเปอร์เซ็นต์อีกทีหนึ่ง เล่นแล้วต้องจินตนาการออกไปต้องเล่นใส่เสียง ก็จะมีหลายตอนในเรื่องที่บางทีมันยากมาก สำหรับบางฉากดูแล้วก็มีน้ำตาซึมเหมือนกัน คิดว่าตัวละครที่คนดูจะรักมากที่สุดก็คือน้าเขียวนี่เอง” การันตีว่ากว่าจะผ่านขั้นตอนออกมาเป็นแต่ละคาแรคเตอร์ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่าย เลยไม่แปลกใจว่าทำไม การ์ตูนแอนิเมชั่นยักษ์ถึงใช้เวลา6ปี 4 ต.ค.นี้พร้อมกันทุกโรงภาพยนตร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ