กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--ศศินทร์
จากเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในปีที่ผ่านมา เมื่อก้าวเข้าสู่ฤดูฝนสิ่งที่ประชาชนวิตกกังวลในใจตอนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องคำถามว่า “น้ำจะท่วมอีกหรือไม่?” ในขณะที่ภาครัฐก็ยังไม่มีความชัดเจนที่จะสร้างความมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมอีก สิ่งที่ทำกันได้ก็คือ ประชาชนบางพื้นที่ดีดบ้านให้สูงขึ้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต้องเตรียมเรือชูชีพ หรือวิธีการต่างๆ เท่าที่จะทำได้ รวมทั้งการสร้างแนวคันกั้นน้ำ เพื่อปกป้องตนเองของนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวและเป็นการลงทุนที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนน้อยเท่านั้น และยังไม่แน่ใจว่าจะป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้นำเสนอแนวคิดในการป้องกันและบริหารจัดการกับปัญหาน้ำท่วม ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักเรื่องการจัดการกับปริมาณของน้ำในช่วงฤดูฝน และประชาชนได้รับคำตอบว่าปีนี้น้ำจะท่วมอีกหรือไม่
ดร.วิกรม จารุพงศา อาจารย์ประจำคณะการจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมาว่า ตามหลักการจัดการ การปฎิบัติการ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมมีอยู่ 3 ส่วน คือ 1.ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ระบบ ( พื้นที่น้ำท่วม) มากเกินไป 2.ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากระบบน้อยไป และ 3. ปริมาณรองรับน้ำ (พื้นที่แก้มลิง แม่น้ำคูคลองต่างๆ) ในระบบน้อยไป อธิบายง่ายๆ ก็คือว่า น้ำมามาก ไหลออกไม่ทัน พื้นที่เก็บน้ำไม่เพียงพอ ทั้งสามปัจจัยรวมกันน้ำก็ท่วม หลักการนี้สามารถอธิบายทุกเหตุการณ์ที่เกิดน้ำท่วมได้ ดังนั้นแนวทางแก้ไขก็ต้องวิเคราะห์สามปัจจัยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เขื่อนและประตูน้ำมีความสามารถในการควบคุมอัตราน้ำไหลเข้าสู่ระบบ แต่หากน้ำมามากอย่างปี 2554 ก็ไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันน้ำท่วมเป็นระยะเวลานานๆ ก็คือความสามารถในการระบายน้ำออกจากระบบ สำหรับกรุงเทพฯ ก็คือการไหลลงสู่ทะเล เราต้องมีความสามารถในการระบายน้ำลงทะเลเพิ่มขึ้นจึงจะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน พื้นที่แก้มลิงเพิ่มความสามารถในการรับน้ำไว้ชั่วคราว เมื่ออัตราน้ำไหลเข้ามีมากกว่าอัตราไหลออก
วิธีการแก้ปัญหาทั้งการสร้างพื้นที่แก้มลิง รวมทั้งการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำในกรุงเทพฯ ไม่ใช่วิธีการป้องกันที่สามารถรับมือกับน้ำปริมาณมาก ๆ เพราะอุโมงค์ช่วยได้แค่การระบายน้ำจากฝนตกหนักไม่ใช่การระบายน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ต่างๆ ในปริมาณมาก ส่วนการทำพื้นที่แก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำไว้นั้นก็เพื่อรอเวลาระบายออกในระยะเวลาสั้นๆ และประเทศเราไม่มีพื้นที่จำนวนมากที่จะทำพื้นแก้มลิงสำหรับรับน้ำได้จำนวนมาก นอกจากนี้แก้มลิงบางแห่งน้ำไหลเข้าไปแล้ว ไหลออกไม่ได้อีกเป็นเดือน ๆ สิ่งที่ตามมาก็คือสร้างปัญหาให้กับพื้นที่รอบ ๆ แก้มลิง หากเป็นเหตุการณ์ของปี 2554 น้ำไหลเข้าระบบเป็นปริมาณมหาศาลและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน พื้นที่แก้มลิงมีผลในการป้องกันน้ำท่วมได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวซ้ำขึ้นมาอีก เราต้องเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำลงสู่ทะเล ตัวอย่างเช่น การขุดลอกแม่น้ำ คูคลอง ในช่วงที่เป็นคอขวดของการระบายน้ำ แต่โชคร้ายที่พื้นที่กรุงเทพฯ ค่อนข้างต่ำ อัตราการระบายลงสู่ทะเลจึงไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้มากนักจากแม่น้ำคูคลองต่างๆ ที่มีอยู่ ดังนั้นประเทศของเราน่าจะมี ฟลัดเวย์หรือทางน้ำไหลผ่าน หากปริมาณน้ำไหลเข้า มีมากเกินกว่าที่แม่น้ำคูคลอง จะรองรับได้ ปริมาณน้ำเหล่านี้จะถูกบังคับให้อ้อมตัวเมืองแล้วให้ไปบรรจบกับแม่น้ำสายเดิมที่ผ่านตัวเมืองไปแล้ว หรือลงทะเลไปเลย จะเป็นวิธีที่ทำให้ระบายน้ำโดยไม่สร้างความเสียหายให้กับเมือง ดังเช่น ในปี 2554 หากเรามีฟลัดเวย์จะทำให้ น้ำท่วมน้อยลงหรือระยะเวลาในการท่วมจะสั้นกว่า เชื่อว่าการสร้างฟลัดเวย์เป็นการแก้ปัญหาระยะยาวและเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสำหรับสร้างฟลัดเวย์น่าจะเป็นฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เพราะยังมีพื้นที่เหลืออยู่มาก ทั้งยังมีระดับต่ำกว่าฝั่งตะวันตก
ดร.วิกรม กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ ก็คือเรื่องผังเมือง เนื่องจากการกำหนดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง หรือพื้นที่ต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจน การกำหนดโซนผังเมืองแต่ละพื้นที่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้จริง เห็นได้จากบางพื้นที่รอบนอกของเมืองน่าจะเป็นพื้นที่ฟลัดเวย์ แต่มีการก่อสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยหรือสิ่งปลูกสร้างทางอุตสาหกรรม รวมถึงถนนที่ตัดขวาง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการปิดกั้นทางน้ำไหลผ่าน
การที่นิคมอุตสาหกรรมบางแห่งสร้างคันกั้นน้ำคอนกรีตเพื่อป้องกันพื้นที่ของตัวเองนั้น อาจจะสามารถป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมภายในนิคมฯ ได้ แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้เพราะจะถูกตัดขาดจากภายนอกอยู่ดี ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมจริงๆ แต่เป็นการลดความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมแสดงให้เห็นถึงการขาดความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือไม่ ดร.วิกรม กล่าว และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมาต้องถือว่า การบริหารจัดการไม่ดี เพราะผิดหลักการจัดการ การปฏิบัติการทั้งการระบายน้ำ รวมทั้งการปิดกั้นทางน้ำและการปล่อยน้ำไม่มีความสอดคล้อง ทำให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ เชื่อว่าความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมยังมีอยู่ และต้องการรู้ว่าปีนี้น้ำจะท่วมเหมือนกับปี 2554 หรือไม่ รวมถึงในปีต่อๆไป ดร.วิกรม ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์น้ำท่วมอาจเกิดขึ้นได้อีก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ผังเมือง สิ่งปลูกสร้าง จำนวนน้ำ การระบายน้ำ ที่สำคัญจะต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ หากทั้งหมดนี้ได้รับการแก้ไข ป้องกันและมีแผนการบริหารจัดการที่ดี เชื่อว่าเหตุการณ์น้ำท่วมหนักไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก